โอกาสและความท้าทาย

การพัฒนาชุมชนและสังคม นับเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญสูงสุดของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่สอดคล้องตามหลักปรัชญา “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” ที่เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การเข้าใจความคาดหวัง พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน จะส่งผลให้บริษัทได้รับการยอมรับให้ดำเนินการ (license to operate) และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในปัจจุบันบุคลากรที่มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Mathematics: STEM) ยังคงมีอยู่จำกัด ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นทักษะที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น นอกจากการพัฒนาสังคมและส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชนแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะดังกล่าวให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อร่วมกันส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

  ปี 2566 ปี 2568 ปี 2573
  ผลการดำเนินงาน เป้าหมาย เป้าหมาย เป้าหมาย
นักเรียนและนักศึกษาที่ได้รับการส่งเสริมทักษะด้าน STEM (คน)
ระดับอนุบาลและประถมศึกษา1 (คน) 178,623 178,000 226,000 400,000
ระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา2 (คน) 171 170 200 300

1 ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2553

2 ปรับปรุงเป้าหมายระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาจากเป้าหมายรายปีเป็นจำนวนนักศึกษาสะสม ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2554

การบริหารจัดการและกลยุทธ์

ความมุ่งมั่นของเรา

บี.กริม เพาเวอร์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักปรัญชา “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีเพื่อการพัฒนาความศิวิไลซ์ ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ” เพื่อส่งมอบคุณค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและควบคุมผลกระทบจากการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้า โดยวางมาตรการควบคุมและการจัดการที่เหมาะสม สำรวจความต้องการของชุมชนสม่ำเสมอ ตลอดจนให้การสนับสนุน พัฒนา และมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนต่าง ๆ โดยมุ่งหวังที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมชุมชนให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน

โครงสร้างการกำกับดูแล

บี.กริม เพาเวอร์ จัดตั้งคณะทำงาน “BGP Community Work Center” เพื่อบริหารจัดการและกำหนดแนวทางในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวทางขององค์กร รวมถึงเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล หลักปฏิบัติที่ดี ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา ร่วมกันในแต่ละหน่วยงาน และนอกจากนี้คณะทำงานจะจัดให้มีการประชุมติดตามการดำเนินงานรายไตรมาส และรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการบริษัทผ่านคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ทำการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินงานตามแผนการพัฒนาชุมชนตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยคณะทำงานประกอบไปด้วย

  • ผู้บริหารระดับสูง (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ – ลูกค้าสัมพันธ์และปฏิบัติการโรงไฟฟ้า 2) มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องชุมชนสัมพันธ์ โดยทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ และทบทวนประสิทธิภาพของแนวทางบริหารจัดการด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม รวมถึงการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
  • หน่วยงานชุมชนสัมพันธ์ ประจำแต่ละโรงไฟฟ้า มีหน้าที่สื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียรอบโรงไฟฟ้า ตั้งแต่ช่วงก่อนการพัฒนาโครงการ ช่วงระหว่างการก่อสร้าง และช่วงหลังจากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีและการเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบ รับทราบปัญหาและความต้องการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อความต้องการและคาดหวังของชุมชนและสังคมโดยรอบ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าดำเนินการ
  • ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ทำหน้าที่ดูแลภาพรวม ดำเนินโครงการและสื่อสารการดำเนินการเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมสู่สาธารณะให้เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส
กลยุทธ์

บี.กริม เพาเวอร์ กำหนดกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาชุมชน สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจและพันธกิจขององค์กร สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) เน้นการร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้เราเข้าใจความต้องการและความคาดหวังที่มีต่อองค์กร ตลอดจนสามารถดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างเหมาะสม โดยครอบคลุมด้านการศึกษา ด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านศาสนา ด้านการกีฬา และด้านสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียด ดังนี้

กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาชุมชน

การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโรงไฟฟ้า
บี กริม เพาเวอร์ ตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติและเคารพผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน จึงได้นำหลักปฏิบัติสากล AA1000 Stakeholder Engagement Standard (SES) 2015 ในการสร้างกรอบการดำเนินงานที่เหมาะสม สำหรับการประเมิน การออกแบบ การนำไปปฏิบัติ รวมถึงการสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของเรา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย) ซึ่งเราได้นำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้กับการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโรงไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ได้แก่ ชุมชน ผู้นำชุมชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน องค์การนอกภาครัฐ (NGOs) รวมถึงไปกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น ตั้งแต่การประเมินขอบเขตผลกระทบจากกิจกรรมของโรงไฟฟ้าต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบ การจัดลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนแนวทางการมีส่วนร่วมของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ยังได้จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย (Public Participation) จัดทำการสำรวจสภาพเศรษฐกิจสังคม ความพึงพอใจ และความคิดเห็นชุมชน (Social Survey) ประจำปี รวมถึงการจัดประชุมทวิภาคี (บริษัทและชุมชน) และประชุมไตรภาคี (บริษัท ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ) เพื่อการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจมุมมองและทัศนคติของผู้มีส่วนได้เสียต่อองค์กร ตลอดจนนำผลจากการสำรวจมาวิเคราะห์ วางแผนและปรับปรุงการบริหารจัดการได้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น รวมถึงการนำผลลัพธ์มาจัดทำเป็นโครงการและกิจกรรมเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาความพึงพอใจและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การฝึกอบรมบุคลากร

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นที่จะฝึกอบรมให้แก่พนักงานและผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์ การบริหารจัดการและส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม รวมถึงพัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งจากผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโรงไฟฟ้า เราจึงจัดการฝึกอบรมให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี ทั้งในรูปแบบการสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย ตลอดจนการเรียนรู้ด้วยตนเองรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ B.Grimm Academy นอกจากนี้เรายังจัดสรรช่องทางและแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบออนไลน์และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ

ผลการดำเนินงานปี 2566

  • มูลค่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม กว่า 241 ล้านบาท
  • ดำเนินโครงการส่งเสริมทักษะด้าน STEM แก่นักเรียนและนักศึกษา ดังนี้
    • นักเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา ได้รับการฝึกอบรมความรู้จากโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยและโครงการ B.Grimm BIP School Camp รวม 17,773 คน ในปี 2566 ส่งผลให้โดยรวมมีนักเรียนได้รับความรู้สะสมกว่า 178,623 คน ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2553 ทั้งนี้ สำหรับโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย มีโรงเรียนภายใต้การดูแลของบี.กริม เพาเวอร์ กว่า 63 โรงเรียน ที่ผ่านการประเมินและได้รับมอบตราพระราชทาน "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2566” ที่แสดงถึงผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และข้อกำหนดของโครงการได้เป็นอย่างดี
    • นักศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา รวม 29 คน ได้รับการฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ทำงานจริง ผ่านโครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี โครงการ Harbour Space และโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ โดยหลังจบโครงการมีนักศึกษา 1 คน ได้บรรจุเป็นพนักงาน ของ บี.กริม เพาเวอร์ ในปี 2566 ส่งผลให้โดยรวมมีนักศึกษาได้รับความรู้สะสมกว่า 171 คน (ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2554)
  • ดำเนินโครงการเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าประจำปี โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโรงไฟฟ้าเข้าเยี่ยมชมเพื่อให้เข้าใจถึงการดำเนินงานและผลกระทบของโรงไฟฟ้า รวมถึงเป็นหนึ่งในช่องทางในการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่