โอกาสและความท้าทาย

การทำให้มั่นใจว่าพนักงาน ผู้รับเหมา และผู้เยี่ยมชมโครงการมีความปลอดภัยในการทำงานทั้งร่างกายและจิตใจเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญสูงสุดในการดำเนินธุรกิจของ บี.กริม เพาเวอร์ บริษัทจึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับ ด้านคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ด้านการส่งเสริมความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์องค์กรต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงาน ชุมชน หน่วยงานกำกับดูแล คู่ค้า เป็นต้น

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

  ปี 2566 ปี 2568 ปี 2573
  ผลการดำเนินงาน เป้าหมาย เป้าหมาย เป้าหมาย
อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานจนถึงขั้นหยุดงาน1
พนักงาน 0 0 0 0
ผู้รับเหมา 1.25 0 0 0
อัตราการเสียชีวิตจากการทำงาน2
พนักงาน 0 0 0 0
ผู้รับเหมา 0 0 0 0

1 อัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน หมายถึง จำนวนคนที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน ต่อจำนวนชั่วโมงทำงานในแต่ละปี คูณหนึ่งล้าน
2 อัตราการเสียชีวิต หมายถึง จำนวนคนที่เสียชีวิตจากการทำงาน ต่อจำนวนชั่วโมงทำงานในแต่ละปี คูณหนึ่งล้าน

การบริหารจัดการและกลยุทธ์

นโยบายและความมุ่งมั่น
บี.กริม เพาเวอร์ ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการวางแนวทางและผลลัพธ์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสิทธิภาพและการดำเนินงาน ยกระดับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมไปถึงป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้า พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยและสนับสนุนให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี พร้อมตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยกำหนด นโยบายด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ พนักงาน บริษัทย่อย รวมถึงกิจกรรมร่วมค้าและผู้รับเหมาที่อยู่ใต้การดูแลควบคุมของบริษัทมีสาระสำคัญ ดังนี้
  • กำหนดเป้าหมายลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
  • จัดให้มีการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตลอดจนเสริมสร้างความตระหนักให้แก่พนักงานและผู้เกี่ยวข้อง
  • ตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
  • กำหนดการป้องกันและประเมินความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือ ป้องกันและควบคุมความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น
  • กำหนดโครงสร้างกำกับดูแลและความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม
โครงสร้างการกำกับดูแล

บี.กริม เพาเวอร์ วางโครงสร้างการกำกับดูแลด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบายและส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

คณะกรรมการบริษัท

มีหน้าที่กำกับดูแล รับรองนโยบาย กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ และทบทวนประสิทธิภาพของระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี

คณะกรรมการบริหารด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม

ประกอบด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการบริหารและตัวแทนจากคณะทำงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่จัดทำนโยบายและ กลยุทธ์ รับผิดชอบและติดตามผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามเป้าหมายและทิศทางขององค์กร

คณะทำงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม

ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพจากทั้งสำนักงานใหญ่และโรงไฟฟ้า มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม รายงาน และกำหนดแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามนโยบายของบริษัท โดยจัดการประชุมทุกสองเดือน เพื่อสื่อสารนโยบาย หารือ ร่วมมือและสร้างความตระหนักกับผู้มีส่วนได้เสียหลักทั้งภายในและนอกองค์กร แบ่งปันมุมมองหรือความคิดริเริ่มในการปรับปรุงระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความตระหนักในหมู่พนักงาน ผู้รับเหมา คู่ค้า หน่วยงานกำกับดูแล และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

กลยุทธ์

บี.กริม เพาเวอร์ ได้ยกระดับมาตรฐานของแนวทางการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้สอดคล้องกับแนวทางสากล นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001: 2018) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้งหมด รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001: 2015) และมาตรฐานระบบการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO22301:2019) โดยมีการประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตรวจสอบและติดตามผล รวมถึงทบทวนวัตถุประสงค์อย่างสม่ำเสมอตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมความปลอดภัยและสื่อสารนโยบายแก่พนักงานและผู้เกี่ยวข้อง มีสาระสำคัญดังนี้

จัดให้มีการชี้บ่งอันตราย ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์ลักษณะการทำงาน (Job Safety Analysis) สำหรับทั้งพนักงานและผู้รับเหมา

โดยครอบคลุมลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติก่อนเข้าปฏิบัติงาน เพื่อประเมินโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันให้สอดคล้องกับความเสี่ยง โดยใช้หลักการลำดับชั้นของการควบคุมอันตราย (Hierarchy of controls) ตลอดจนกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้ปลอดภัย รวมถึงติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมาย โดยกำหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงต้องเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานขึ้นไป การประเมินความเสี่ยงพิจารณาจาก โอกาสในการเกิด (Likelihood) และผลกระทบ (Impact) แบ่งระดับความเสี่ยงเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ความเสี่ยงสูงมาก (Very High Risk) ความเสี่ยงสูง (High Risk) ความเสี่ยงปานกลาง (Medium Risk) ความเสี่ยงต่ำ (Low Risk) และความเสี่ยงต่ำมาก (Very Low Risk) ในกรณีที่พบว่ามีความเสี่ยงสูง ทางผู้เกี่ยวข้องต้องกำหนดมาตรการควบคุม หรือขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยเพื่อให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ (Low Risk) ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน โดยพิจารณาตั้งแต่การขจัดอันตราย (Elimination) การปรับเปลี่ยนวัสดุหรือกระบวนการ (Substitution) การแยกกระบวนการหรือเครื่องจักรออกจากผู้ปฏิบัติงาน (Isolation) การออกแบบหรือติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดอันตราย (Engineering) การบริหารจัดการ (Administration) เช่น กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรด้านความปลอดภัยตามที่กำหนดการตรวจสุขภาพก่อนเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่อันตราย เช่น สถานที่อับอากาศ รวมถึงการสื่อสารความปลอดภัยให้ผู้เกี่ยวข้องทราบก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ตลอดจนการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้ รวมทั้งพิจารณาว่าการดำเนินงานจะไม่ส่งกระทบกับชุมชนรอบข้างโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยงดังกล่าวจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในขั้นตอนการขอใบอนุญาตเข้าทำงานในพื้นที่โรงไฟฟ้า นอกจากนั้นกรณีพนักงานพบความเสี่ยงหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยในพื้นที่ ให้แจ้งคณะกรรมการอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ของโรงไฟฟ้านั้นๆ เพื่อดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ให้เกิดความปลอดภัย

การกำกับดูแลผู้ปฏิบัติงาน และการควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  • กำหนดกฎระเบียบในการปฏิบัติงานและจัดทำคู่มือความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ครอบคลุมถึงพนักงาน ผู้รับเหมาและบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ปฏิบัติงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหัวหน้างานและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับ ดูแลตรวจสอบ ให้เป็นไปตามมาตรการและแนวทางความปลอดภัย เช่น ผู้รับเหมาทุกรายต้องผ่านการอบรมด้านความปลอดภัยก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน ผู้รับเหมาต้องมีหัวหน้างานที่มีความรู้ด้านความปลอดภัยในการดูแลรับผิดชอบตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน เป็นต้น
  • กำหนดให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน รวมถึงมีการตรวจวัดและประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างสม่ำเสมอตามมาตรฐานและข้อกำหนด เช่น ระดับความดังเสียง คุณภาพอากาศ เป็นต้น
  • มีการตรวจติดตามการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอโดยหัวหน้างาน กรณีพบผู้ปฏิบัติงานไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่กำหนด หรือสภาพพื้นที่ไม่ปลอดภัย มีความเสี่ยงที่อาจได้รับอันตราย จะดำเนินการสั่งหยุดงานทันที พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามขั้นตอนที่ปลอดภัย หรือปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้ปลอดภัย ก่อนอนุญาตให้ปฏิบัติงานอีกครั้ง
  • จัดการประชุมคณะทำงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการปฏิบัติด้านความปลอดภัยให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มีการประกาศบังคับใช้เพิ่มเติม และหลักการความปลอดภัย
  • มีการตรวจติดตามการปฏิบัติงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ของโรงไฟฟ้าโดยแผนกอาชีวอนามัยและความปลอดภัยส่วนกลาง (Corporate SHE) เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนด และนโยบายด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมของ บี.กริม เพาเวอร์ อย่างเคร่งครัด
การรายงานและสอบสวนอุบัติการณ์

กำหนดให้รายงานอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ที่เกิดในพื้นที่ของบริษัทอย่างเป็นระบบ โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้พบเห็นจะต้องปฏิบัติตามแผนตอบสนองเหตุฉุกเฉิน และแจ้งหัวหน้างานให้เร็วที่สุด คณะทำงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง (Root Cause) ดำเนินการแก้ไข ตลอดจนกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ และนำส่งรายงานอุบัติเหตุตามแบบฟอร์มที่กำหนดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจะมีการติดตามผลการดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง ตามมาตรการป้องกันที่ได้ระบุไว้เป็นระยะ และจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลการเรียนรู้กลาง (Knowledge Sharing) ของ บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งพนักงานสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งสื่อสารบทเรียนจากอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น (Lesson Learned Sharing) ให้กับพนักงานและผู้รับเหมาทราบผ่านสื่อต่าง ๆ ของบริษัท

การตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน

บี.กริม เพาเวอร์ ให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ เช่น เพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล น้ำท่วม ท่อก๊าซธรรมชาติรั่วไหล เป็นต้น เพื่อให้องค์กรสามารถบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยได้ทำการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) และแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response Plan: ERP) รวมทั้งกำหนดแนวทางการสื่อสารภาวะฉุกเฉินทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผสมผสานการบริหารงาน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) และระบบมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) (ISO 22301) ครอบคลุมทั้งสำนักงานใหญ่และโรงไฟฟ้าเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและสามารถดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดให้มีการซ้อมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจและแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในทุกโรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นประจำทุกปี

การอบรมและส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยและสุขภาพที่ดี

ด้านความปลอดภัยในการทำงาน : เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย โดยมุ่งสร้างความรู้ ความตระหนัก พร้อมเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยในการทำงานครอบคลุมทั้งพนักงานและผู้รับเหมา โดยจัดการอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึงหลักสูตรความปลอดภัยเฉพาะทางตามลักษณะงาน เช่น การปฏิบัติงานในสถานที่อับอากาศ การปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า การปฏิบัติงานบนที่สูง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การฟื้นคืนชีพและการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (CPR&AED) ตลอดจนการส่งเสริมแนวทางความปลอดภัยด้วย พฤติกรรมความปลอดภัย (Behavior-Base Safety: BBS) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับพนักงานบี.กริม เพาเวอร์ ทุกคน

ด้านการส่งเสริมสุขภาพ : การส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย เราจึงจัดให้มีการตรวจประเมินสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง ตามลักษณะงานที่ปฏิบัติให้กับพนักงานทุกคนเป็นประจำทุกปี พร้อมประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงาน นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแก่พนักงานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัย กิจกรรมออกกำลังกาย จัดสถานที่ออกกำลังกายภายในบริษัท กิจกรรมกีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน บี.กริม เพาเวอร์ เป็นต้น

ผลการดำเนินงานปี 2566

100%

ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
  • ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001)

0

การเสียชีวิตเป็นศูนย์

ในพนักงานและผู้รับเหมา

13,974 ชั่วโมง

จัดอบรมด้านอาชีวอนามัย

ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ให้กับพนักงานในปี 2566

สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามกรอบการรายงานของ GRI มีขอบเขตครอบคลุมทั้งสำนักงานใหญ่และโรงไฟฟ้า (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่หัวข้อ "เกี่ยวกับรายงานฉบับนี้" และหัวข้อ "การรับรองจากหน่วยงานภายนอก" ของแบบ 56-1 One Report ประจำปี 2566) ในปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ ยังดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยต่อเนื่อง ได้แก่ การตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงาน ทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การอบรมพนักงานให้ทราบถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย และตรวจติดตามระหว่างการปฏิบัติงานโดยหัวหน้างานเป็นระยะๆ ทั้งนี้ ไม่พบการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานในพนักงาน แต่พบการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานในผู้รับเหมาจำนวน 3 กรณี ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ดำเนินการแก้ไข และกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำโดยหัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) และผู้เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว

พัฒนาแนวทางการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
  • ทบทวนความเสี่ยงจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น เพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล ท่อก๊าซธรรมชาติรั่วไหล เป็นต้น รวมทั้งบูรณาการแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินครอบคลุมเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ลดผลกระทบ และเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการ รวมถึงดำเนินการซ้อมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) และแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response Plan: ERP) ของโรงไฟฟ้าทุกแห่งประเมินผลการฝึกซ้อมโดยที่ปรึกษาตามมาตรฐานสากล โดยในปี 2566 ทางบริษัทฯ ได้จัดให้มีการซ้อมแผน ดังต่อไปนี้
  • กำหนดให้มีตรวจสอบพื้นที่และสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน ครอบคลุมพื้นที่สำนักงานใหญ่และทุกโรงไฟฟ้าอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง โดยคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ประจำแต่ละโรงไฟฟ้า หากพบสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการปรับปรุง แก้ไขเพื่อให้เกิดความปลอดภัยภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • ทบทวนการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ที่ผ่านมารวมทั้งความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับพนักงาน ผู้รับเหมา รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง แล้วจัดทำเป็นสื่อความปลอดภัย เช่น การใช้รถยนต์ภายในพื้นที่โรงไฟฟ้า, อุบัติเหตุที่เกิดจากความล้มเหลวของอุปกรณ์เครื่องจักรที่ชำรุด ,อันตรายจากเพลิงไหม้หรือสารเคมีรั่วไหล, แนวทางการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ เป็นต้น พร้อมทั้งยังมีการทบทวนการจัดอบรมด้านความปลอดภัยให้กับพนักงาน ผู้รับเหมา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องให้เกิดความตระหนักเรื่องอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์จากการทำงาน
การอบรมและส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยและสุขภาพที่ดี
  • จัดอบรมด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามลักษณะงาน เพื่อส่งเสริมทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานรวม 13,974 รอชั่วโมง เช่น การอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามตำแหน่ง ความปลอดภัยการทำงานกับไฟฟ้า ความปลอดภัยการทำงานกับหม้อไอน้ำ การอบรมความปลอดภัยการทำงานในสถานที่อับอากาศ การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบอัตโนมัติ (AED) เป็นต้น
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย เช่น กิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัยในแต่ละโรงไฟฟ้า มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานและส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่พนักงาน ป้องกันควบคุมผลกระทบด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการอบรมให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านความพฤติกรรมปลอดภัย โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน Behavior-Base Safety (BBS) มาบรรยายหัวข้อค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัยในการทำงาน (Mindfulness-Discipline-Caring)
  • กิจกรรรมบริหารกายวันละนิดพิชิตออฟฟิศซินโดรม หรือโครงการลดน้ำหนัก 3 เดือน เพื่อเสริมสร้างให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย โดยร่วมมือกับศูนย์ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) เพื่อให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้กับพนักงานที่เข้าร่วม ตลอดระยะเวลาโครงการ ผ่านกิจกรรมแชร์ความรู้เรื่องการป้องกันและการออกกำลังกายเบื้องต้นสำหรับออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) และการตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายเป็นประจำ ตลอดจนการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกันระหว่างพนักงานโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งหมด 6 ครั้ง
  • ควบคุมการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่โรงไฟฟ้าอย่างเคร่งครัดโดยผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าไปปฏิบัติงานภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และผ่านการอบรมด้านความปลอดภัยโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ของแต่ละโรงไฟฟ้า กรณีที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่หรือลักษณะงานที่มีความเสี่ยงสูงตามกำหนด เช่น การทำงานที่อับอากาศ การทำงานบนที่สูง การทำงานกับไฟฟ้า เป็นต้น จะต้องขออนุญาตเข้าพื้นที่ตามแบบฟอร์มที่กำหนด พร้อมทั้งตรวจสอบและควบคุมให้สภาพแวดล้อมในการทำงานเกิดความปลอดภัยตลอดเวลาปฏิบัติงาน