โอกาสและความท้าทาย

เป้าหมายสูงสุดของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การดำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เพราะเราตระหนักดีว่าในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เราจึงมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เริ่มตั้งแต่การเลือกเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับการผลิตไฟฟ้า และใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และฝุ่นละออง (TSP) ในปริมาณต่ำ สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญและขยายการลงทุนในโครงการด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น รวมถึงการบำรุงรักษาและปรับปรุงคุณภาพของเครื่องจักรให้มีความทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรในการตรวจสภาพความสมบูรณ์ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ (Life Cycle Assessment : LCA) ในกระบวนการผลิต ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านความร่วมมือกับองค์กรภายนอกทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล โดยมุ่งหวังในการบรรเทา ลด และฟื้นฟูผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

ผลการดำเนินงานและเป้าหมาย

ตัวชี้วัด ผลงาน
ปี 2566
เป้าหมาย
ปี 2566 - 2572
เป้าหมาย
ปี 2573
สัดส่วนของขยะรีไซเคิลต่อขยะทั้งหมด 84.3%1 >82% 88%
ตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิต ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด (สัดส่วนต่อโรงไฟฟ้าทั้งหมด) 100% 100% 100%
ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบาย ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด (สัดส่วนต่อโรงไฟฟ้าทั้งหมด) 100% 100% 100%

1 ไม่รวมของเสียจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (non-recurring item) จากการรื้อถอนโรงไฟฟ้า ABP1 เฉพาะส่วนที่ดำเนินการเอง ไม่ผ่านผู้รับเหมา ทั้งนี้หากรวมรายการดังกล่าวสัดส่วนของเสียที่นำกลับมาใช้ใหม่/ รีไซเคิลอยู่ที่ร้อยละ 77.8 ในปี 2566

การบริหารจัดการและกลยุทธ์

นโยบายและความมุ่งมั่น

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นที่จะประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน พร้อมตระหนักถึงความสำคัญด้านสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เราจึงกำหนดนโยบายด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางและกรอบในการดำเนินงานสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อความสอดคล้องในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร

โครงสร้างการกำกับดูแล

บี.กริม เพาเวอร์ วางโครงสร้างการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องในด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบาย พร้อมส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลักในการกำกับดูแล ดังนี้

  • คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่กำกับดูแลและรับรองนโยบาย กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ และทบทวนประสิทธิภาพของระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เป็นประจำทุกปี
  • คณะกรรมการบริหารด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารและตัวแทนจากคณะทำงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน้าที่จัดทำนโยบายและกลยุทธ์ รับผิดชอบและติดตามผลการปฏิบัติงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและทิศทางขององค์กร
  • คณะทำงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพจากทั้งสำนักงานใหญ่และโรงไฟฟ้า มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม รายงาน และกำหนดแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการทำงาน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการไม่ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามนโยบายของบริษัท โดยคณะทำงานมีการจัดการประชุมทุกสองเดือน เพื่อสื่อสารนโยบาย หารือกับผู้มีส่วนได้เสียหลักทั้งภายในและภายนอกองค์กร แบ่งปันมุมมองหรือความคิดริเริ่มในการปรับปรุงระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความตระหนักในหมู่พนักงาน ผู้รับเหมา คู่ค้า หน่วยงานกำกับดูแล และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอก
ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

บี.กริม เพาเวอร์ ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานสากล ข้อตกลงร่วมและ/หรือรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่ การศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ในประเทศไทย, การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE), รายงานการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย (Environmental Safety Assessment: ESA), รายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: COP) พร้อมประยุกต์ใช้หลักการบรรเทาผลกระทบอย่างมีลำดับชั้น (Mitigation Hierarchy) ตลอดจนได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO140011 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บี.กริม เพาเวอร์ดำเนินกิจการโครงการโรงไฟฟ้าสอดคล้องกับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปในระดับสากล เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ รวมถึงเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมีผลครอบคลุมทั่วทั้งกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ รวมถึง บริษัทย่อย คู่ค้า และผู้รับเหมาที่อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของบริษัท

1 โรงไฟฟ้าของบี.กริม เพาเวอร์ ที่ยังไม่ได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลัก ISO 14001:2015 บี.กริม เพาเวอร์กำหนดให้มีการดำเนินการตรวจสอบภายใน และ/หรือจัดจ้างผู้ทวนสอบภายนอก สำหรับการตรวจติดตามด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกโรงไฟฟ้าของบี.กริม เพาเวอร์ ดำเนินการตามหลักการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ควบคู่ไปกับการพิจารณาแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อเตรียมพร้อมต่อการขอใบรับรองในอนาคต

การศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทุกโครงการโรงไฟฟ้าของ บี.กริม เพาเวอร์ ผ่านการดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ เพื่อหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ พร้อมกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมของโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราดำเนินการการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าตามมาตรการป้องกัน แก้ไข ลดและติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เป็นประจำทุก 6 เดือน

การจัดการพลังงาน

บี.กริม เพาเวอร์ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยมุ่งเน้นในการบำรุงรักษาและพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง และปรับการใช้พลังงานความร้อนให้มีประโยชน์สูงสุด รวมถึงเพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย

ในด้านการบริหารจัดการ เราให้ความสำคัญในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่ระดับนโยบายที่เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีคุณภาพจากผู้ผลิตที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน เพื่อการกำหนดแผนงานและดำเนินการบำรุงรักษาเชิงป้องกันอย่างรอบคอบ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมให้คิดค้น พัฒนา ปรับปรุง หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานอีกทางหนึ่ง

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ มีการใช้พลังงานไม่หมุนเวียน เท่ากับ 15,068,647 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 160 เมกะวัตต์-ชั่วโมง

หน่วย 2563 2564 2565 2566
ปริมาณการใช้พลังงานไม่หมุนเวียนทั้งหมด เมกะวัตต์-ชั่วโมง 16,925,056 17,410,835 15,939,323 15,068,647
ปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เมกะวัตต์-ชั่วโมง 0 49 73 160

การใช้พลังงานไม่หมุนเวียนลดลง 870,676 เมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือร้อยละ 5.46 จากปี 2565 เนื่องด้วยการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโครงการเดิมด้วยเครื่องจักร/อุปกรณ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ประกอบด้วย BPLC1, BGPM1-2, ABP1 และ ABP2

การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในการผลิตของเครื่องจักร

การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในการผลิตของเครื่องจักร

เรามุ่งเน้นในการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 สามารถลดการใช้พลังงานจากไฟฟ้าและความร้อนได้ถึง 7,600,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นผลประหยัดกว่า 7.8 ล้านบาท มีโครงการที่โดดเด่นดังนี้

  • โรงไฟฟ้า ABP4-5 มีการลดเวลาการเดินเครื่องจักรให้สอดคล้องกับการผลิต เช่น การลดเวลาการเดิน CT make up pump และ boiler feed water pump ในช่วงเวลาที่มีอัตราการผลิตไม่สูง (off-peak)
  • โรงไฟฟ้า BIP1-2 เปลี่ยนมาใช้น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralised water) ในการผลิตไอน้ำจากความร้อนส่วนเกิน (Heat Recovery Steam Generator, HRSG) ส่งผลให้สามารถยกเลิกการ blowdown น้ำทิ้งจากการผลิต และลดการสูญเสียความร้อนในระบบ
การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง

เรามีการสำรวจการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในองค์กรอย่างต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการด้านการจัดการพลังงานในแต่ละโรงไฟฟ้า โดยปี 2566 สามารถลดการใช้ไฟส่องสว่างที่เกินความจำเป็นในพื้นที่โรงไฟฟ้ารวมถึงการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็น LED เพิ่มเติม ดังนี้

  • โรงไฟฟ้า ABP4 มีการลดเวลาการใช้ไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่ที่ไม่ได้มีการทำงานประจำ
  • โรงไฟฟ้า ABP5, BPWHA1 และ BIP1-2 มีการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า LED เพิ่มเติมในพื้นที่โครงการ

จากกิจกรรมดังกล่าว สามารถประหยัดไฟฟ้ารวม 130,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ 540,000 บาท

การจัดการน้ำ

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างคุ้มค่าตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมร่วมมือกับชุมชน และองค์กรภายนอกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นเรายังตระหนักถึงความเสี่ยงด้านภัยแล้งอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงจัดประเมินความเสี่ยงด้านน้ำในระดับลุ่มน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของเราจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกิจกรรมการเข้าถึงน้ำของชุมชน รวมถึงส่งเสริมประสิทธิภาพของการใช้น้ำในกระบวนการผลิต ตามหลัก 3Rs (Reduce-Reuse-Recycle) คือ การลดการใช้น้ำ การใช้น้ำซ้ำ และการนำน้ำไปผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การเพิ่มรอบการใช้น้ำหมุนเวียนในระบบจากหอหล่อเย็น การเพิ่มการใช้น้ำที่มาจากการบำบัดน้ำเสีย ทดแทนการใช้น้ำดิบบางส่วน เพื่อลดการสิ้นเปลืองและการดึงน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานและไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

การประเมินความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำ

บี.กริม เพาเวอร์ มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยงทั้งในเชิงปริมาณน้ำและเชิงคุณภาพน้ำของพื้นที่การผลิตขององค์กร (ความเครียดจากน้ำ1) โดยใช้เครื่องมือแผนที่ความเสี่ยงด้านน้ำ AQUEDUCT Water Risk Atlas ของ World Resources Institute โดยผลการประเมินปี 2564 พบว่า โรงไฟฟ้าของบี.กริม เพาเวอร์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยง2 ที่จะขาดแคลนน้ำมีจำนวน 19 แห่ง ซึ่งมีการใช้ปริมาณน้ำบาดาลจำนวน 0.03 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 0.2 จากปริมาณน้ำใช้สุทธิทั้งหมดจำนวน 15.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้จาก 19 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 18 แห่ง ซึ่งมีการใช้น้ำในระดับต่ำมาก เพียง 0.1 ลูกบาศก์เมตรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เราตระหนักถึงความจำเป็นของการจัดการทรัพยากรน้ำและติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกประเภทของโรงไฟฟ้าของเรา เพราะน้ำไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในทรัพยากรหลักในการดำเนินงาน แต่ยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องอนุรักษ์อย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยน้ำส่วนใหญ่ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นน้ำเสียที่ได้รับการบำบัด ซึ่งได้รับการจัดหาผ่านบุคคลที่สาม เพื่อลดการพึ่งพาการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงพิจารณาการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ ภายในโรงไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เพิ่มรอบการหมุนเวียนน้ำในหอหล่อเย็น (Cooling Cycle) เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เช่น จัดประชุมเพื่อหารือร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งร่วมกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อรับฟังปัญหา และร่วมกันหาแนวทางลดผลกระทบและบรรเทาความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และวางแผนในการบริหารจัดการน้ำให้พอเพียงกับการใช้งาน รวมถึงจัดทำแผนจำลองสถานการณ์น้ำเพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำภายนอก ร่วมกับการประเมินการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM-Business Continuity Management) และการเตรียมแผนสำรองการใช้น้ำ (BCP-Business Continuity Plan) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าจะสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของชุมชน

ผลการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ AQUEDUCT Water Risk Atlas

ประเภทโรงไฟฟ้า โครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว
โครงการ โครงการที่ได้รับ การประเมินความเสี่ยง โครงการที่อยู่ในพื้นที่ เสี่ยงสูง - สูงมาก
พลังความร้อนร่วม 18 18 1
พลังงานแสงอาทิตย์ 25 25 18
พลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา) 3 3 - -
พลังงานน้ำ 3 3 0
พลังงานลม 2 2 0
Backup for power trading 1 1 0
รวม 52 49 19

1 ความเครียดจากน้ำ (Water Stress): “เมื่อมีการดึงน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาใช้มากกว่าร้อยละ 20 ของทรัพยากรหมุนเวียนทั้งหมด ความเครียดจากน้ำมักจะเป็นปัจจัยจำกัดในการพัฒนา การดึงน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาใช้ร้อยละ 40 ขึ้นไปแสดงถึงความเครียดสูง ในทำนองเดียวกัน ความเครียดจากน้ำอาจเป็นปัญหาได้หากประเทศหรือภูมิภาคใดมีน้ำน้อยกว่า 1,700 ลบ.ม. ต่อปีต่อประชากร (Falkenmark and Lindh, 2519).” ที่มา: รายงาน IPCC Report ประจำปี 2544
2 พื้นที่ "ความเสี่ยงสูง" หรือ "ความเสี่ยงสูงมาก" ตามแผนที่โดย Aqueduct Global Water Tool ของ World Resources Institute (WRI)
3 อยู่ระหว่างการขยายขอบเขตการเก็บข้อมูล

การจัดการคุณภาพน้ำ

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บี.กริม เพาเวอร์ มีระบบการจัดการคุณภาพน้ำในบริเวณโรงไฟฟ้าเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำทิ้งมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนส่งเข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง โดยจัดให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นรายเดือนโดยนักเคมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการคุณภาพน้ำซึ่งประจำการอยู่ภายในโรงไฟฟ้าและตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก ตลอดจนมีระบบการวิเคราะห์คุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนด เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และข้อกำหนดการระบายน้ำทิ้งเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางในนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยมีการออกแบบและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดำเนินงานอย่างเป็นระบบ แม้ว่าปริมาณน้ำใช้และน้ำทิ้งจะไม่มากเท่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แต่เราให้ความสำคัญและมุ่งเน้นที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านน้ำใช้ในพื้นที่ เว้นแต่การผันน้ำออกจากพื้นที่โรงไฟฟ้าที่เป็นเหตุจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งจะมีการควบคุมและตรวจวัดคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องของแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ มีปริมาณการใช้น้ำสุทธิ1 จำนวน 19.69 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.18 เนื่องจากคุณภาพน้ำจากผู้ให้บริการจัดหาน้ำของโรงไฟฟ้า BPWHA1 มีคุณภาพต่ำลง ทำให้ต้องใช้ปริมาณน้ำที่มากขึ้น ส่วนน้ำทิ้งจะถูกนำเข้าสู่อยู่ในระบบบำบัดน้ำทิ้งและผ่านการวิเคราะห์คุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนด ก่อนส่งไปเข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งต่อไป นอกจากนี้จากผลการติดตามคุณภาพน้ำ ในปี 2566 ไม่พบกรณีปัญหาคุณภาพน้ำเกินค่าตามข้อกำหนดมาตรฐาน

ปริมาณการใช้น้ำสุทธิ

หน่วย 2563 2564 2565 2566
ปริมาณน้ำที่ถูกดึงขึ้นมาใช้ ล้านลูกบาศก์เมตร 20.68 629.46 673.38 598.69
ปริมาณน้ำทิ้ง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร 0.0 608.92 654.83 579.00
ปริมาณการใช้น้ำสะอาดสุทธิ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร 20.68 20.54 18.54 19.69

1 ปริมาณน้ำทิ้งคือน้ำทิ้งที่มีคุณภาพดีกว่าหรือเท่ากับน้ำที่ถูกดึงขึ้นมาใช้
2 ปริมาณการใช้น้ำสุทธิคำนวณจากปริมาณน้ำที่ถูกดึงขึ้นมาใช้ (Water Withdrawal) – ปริมาณน้ำทิ้ง (Water Discharge)

การใช้น้ำสุทธิเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นประมาน 1.15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 6.18 จากปี 2565 เนื่องจากคุณภาพน้ำจากผู้ให้บริการจัดหาน้ำของโรงไฟฟ้า BPWHA1 มีคุณภาพต่ำลง ทำให้ต้องใช้ปริมาณน้ำที่มากขึ้น

กิจกรรมการอนุรักษ์การใช้น้ำ

การนำน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่

เรามีการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการสูญเสียน้ำโดยการนำน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุดโดยที่ไม่มีผลกระทบกับกระบวนการผลิต โดยในปี 2566 ได้มีการปรับปรุงกระบวนการในโรงไฟฟ้า ABP4-5 โดยสามารถดึงน้ำทิ้งจาก sampling rack ของกระบวนการผลิตไอน้ำจากความร้อนส่วนเกิน (Heat Recovery Steam Generator, HRSG), น้ำล้นจากกระบวนการทำข้นตะกอน (Sludge Thickener) และน้ำหล่อเย็นจากเครื่องสูบน้ำดับเพลิงกลับมาใช้ในหอหล่อเย็น ทำให้สามารถประหยัดน้ำได้ 19,289 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ 347,200 บาท

การใช้น้ำทิ้งที่ได้รับการบำบัดทดแทนน้ำดิบ

เรามีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมของเราให้สามารถใช้น้ำทิ้งที่ได้รับการบำบัดในระบบหล่อเย็นเพื่อทดแทนการใช้น้ำดิบอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 โรงไฟฟ้าทดแทน BPLC1R ได้รับการปรับปรุงดังกล่าว ส่งผลให้สามารถหลีกเลี่ยงการใช้น้ำดิบได้ถึง 700,000 ลูกบาศก์เมตรค่อปี สามารถประหยัดได้ถึง 17,500,000 บาท

การปรับปรุงกระบวนการและ/หรืออุปกรณ์ให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้น้ำสูงสุด

ในปี 2566 เรามีการปรับปรุงกระบวนการและ/หรืออุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ โดยสามารถลดการใช้น้ำได้กว่า 300,124 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ประหยัดเงินกว่า 9,400,000 บาท โดยมีโครงการที่โดดเด่น อาทิ

  • โรงไฟฟ้า BIP1-2 มีการเพิ่มระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเข้าระบบหล่อเย็น ส่งผลให้มีการ blowdown น้ำจากระบบลดลง จึงทำให้ปริมาณน้ำใช้ที่เติมเข้าระบบลดลงถึง 131,400 ลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณสารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ คิดเป็นผลประหยัดจากการใช้น้ำและสารเคมีที่ลดลงถึง 1,124,625 บาท
  • โรงไฟฟ้า ABP4 มีการลดเวลาในกระบวนการทำความสะอาดระบบกรองหลายชั้น (MMF-Multimedia Filtration) และระบบถังกรองคาร์บอน (Activated Carbon Filter Tank) โดยไม่กระทบต่อคุณภาพน้ำในการบำบัด
  • โรงไฟฟ้า BIP1-2 เปลี่ยนมาใช้น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralised water) ในการผลิตไอน้ำจากความร้อนส่วนเกิน (Heat Recovery Steam Generator, HRSG) ส่งผลให้สามารถยกเลิกการ blowdown น้ำทิ้งจากการผลิต และลดการสูญเสียความร้อนในระบบ
  • โรงไฟฟ้า BIP1-2 มีการปรับปรุงหอหล่อเย็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิ การปรับมุมใบพัดหอหล่อเย็นเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการระเหย และการติดตั้ง soft start เพื่อหยุดการทำงานของหอหล่อเย็น 1 เซลล์ในช่วง off-peak
การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งน้ำของชุมชน

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นในการส่งเสริมผลกระทบเชิงบวกสุทธิในความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีการส่งเสริมให้โรงไฟฟ้าของเราสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูป่าไม้ ตลอดจนให้การสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ลุ่มน้ำตามธรรมชาติให้คงอยู่ ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อาทิ

  • กลุ่มโรงไฟฟ้า ABP มีส่วนร่วมกับภาครัฐ ประชาชนและเอกชนในการจัดทำแผนแม่บทระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) ในการบริหารจัดการและพัฒนาคลองตำหรุอย่างยั่งยืน
  • เข้าร่วมโครงการ “พัฒนาชุมชนด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน” สำหรับนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยสนับสนุนกระแสไฟฟ้าสำหรับระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ร่วมกิจกรรมบำรุงรักษาคลองในพื้นที่และส่งเสริมกิจกรรมให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการน้ำเสียและขยะให้กับชุมชน
  • ส่งเสริมการสร้างความรู้ในการอนุรักษ์ลุ่มน้ำผ่านการฟื้นฟูป่าชายเลน โดยสนับสนุนงบประมาณและร่วมกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า อาทิ ตำบลคลองตำหรุ และเทศบาลตำบลหนองไม้แดง จังหวัดชลบุรี โดยในปี 2566 มีการดำเนินกิจกรรมปลูกป่าชายเลนบริเวณศูนย์การเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ป่าชายเลนจำนวน 100 ต้น นอกจากนี้ยังร่วมสนับสนุนกล้าไม้ป่าชายเลนจำนวน 2,000 ต้นและพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติกว่า 100,000 ตัว

การจัดการขยะและกากของเสีย

บี.กริม เพาเวอร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการของเสียอย่างเป็นระบบครบวงจร จึงมุ่งเน้นการพัฒนาการจัดการขยะและการลดปริมาณของเสียโดยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน ทั้งยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลกในขณะนี้

โดย บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นต่อการบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณของเสียและการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้มีของเสียคงเหลือน้อยที่สุด และลดการนำของเสียไปฝังกลบ โดยใช้แนวทางการบริหารจัดการด้วยหลักปฏิบัติ 3Rs (Reduce - Reuse - Recycle) หรือลดการเกิดของเสีย นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปผ่านกระบวนการหรือแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนรณรงค์การคัดแยกประเภทของเสีย เช่น ขยะทั่วไป ขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิลและของเสียอันตราย เพื่อการบริหารจัดการของเสียที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนลดผลกระต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลไปยังชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

การจัดการขยะและกากของเสีย

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ มีปริมาณขยะทั้งหมด 2,808 ตัน โดยมีสัดส่วนขยะที่นำไปใช้ซ้ำ/รีไซเคิล/ขายกว่าร้อยละ 77.8 ของขยะทั้งหมด

หน่วย 2563 2564 2565 2566
ขยะทั้งหมด ตัน 2,823 1,899 2,426 2,808
ขยะอันตราย ตัน 155 123 211 673
ขยะไม่อันตราย ตัน 2,292 1,776 2,215 2,135
ขยะที่มีการใช้ซ้ำ / รีไซเคิล / ขาย ตัน 1,892 1,573 2,058 2,183
ร้อยละต่อขยะทั้งหมด 77.3 82.9 84.8 77.8

ของเสียการจากการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น 382 ตัน หรือร้อยละ 15.7 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากคุณภาพน้ำจากผู้ให้บริการจัดหาน้ำสำหรับโรงไฟฟ้า BPWHA1 ต่ำลง ส่งผลให้มีของเสียที่เป็นตะกอนจากการบำบัดน้ำสูงขึ้น ขณะที่สัดส่วนของขยะรีไซเคิลอยู่ที่ 77.8 โดยมีสาเหตุหลักจากขยะจากการรื้อถอนโรงไฟฟ้า ABP1 และ BGPM1-2 เฉพาะส่วนที่ดำเนินการเองไม่ผ่านผู้รับเหมา ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (non-recurring item) ทั้งนี้ หากไม่รวมผลจากกิจกรรมดังกล่าว สัดส่วนของของขยะรีไซเคิลอยู่ที่ร้อยละ 84.3 ในปี 2566

กิจกรรมการลดขยะ

การลดการเกิดของเสีย (Reduce)

การลดการเกิดของเสียถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการจัดการของเสีย รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย ทั้งในปี 2566 เรามีโครงการที่ช่วยลดการเกิดของเสียที่สำคัญ ได้แก่

  • โรงไฟฟ้า ABP4-5 ร่วมมือกับคู่ค้าในการปรับเปลี่ยนสารเคมีควบคุมคุณภาพน้ำในระบบหล่อเย็น ส่งผลให้สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมี NaOCl ได้ 96,000 กิโลกรัม และทำให้ของเสียจากการบำบัดน้ำทิ้งจากการหล่อเย็นลดลง
การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และ/หรือรีไซเคิล

ในปี 2566 เรามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล ได้แก่

  • โรงไฟฟ้า ABP4-5 ดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2563 โดยนำตัวกรองอากาศก่อนเข้า Gas Turbine (Final filter) และ Pre-filter ที่หมดอายุจากการใช้งานกลับมาทำเป็นกระถางต้นไม้เพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและยังเพิ่มความสวยงามให้กับโรงไฟฟ้า ทำให้มีปริมาณของเสียจากตัวกรองดังกล่าวลดลงเป็นศูนย์ โดยในปี 2566 สามารถนำตัวกรองกลับมาใช้ได้ 770 ชิ้น ทั้งนี้ ในอนาคตเราวางแผนจะขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าอื่น ๆ รวมทั้งส่งมอบกระถางให้กับชุมชมรอบโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว
  • โรงไฟฟ้า BIP1-2 ติดตั้งอุปกรณ์ Mobile Oil Skimmer เพื่อแยกน้ำมันออกจากน้ำจากการซ่อมบำรุงเครื่องกังหันก๊าซ ส่งผลให้ปริมาณน้ำปนเปื้อนน้ำมันจากกระบวนการดังกล่าวลดลงได้ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งกำจัดได้ 57,000 บาทต่อปี และน้ำมันที่แยกได้ยังสามารถส่งไปรีไซเคิลได้

การจัดการคุณภาพอากาศ

บี.กริม เพาเวอร์ ให้ความสำคัญต่อการควบคุมมลภาวะทางอากาศในการลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยวางแนวทางและมาตรการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ ตลอดจนการตรวจประเมิน ควบคุมคุณภาพอากาศอย่างเคร่งครัด ทั้งภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าและบริเวณชุมชนโดยรอบที่อาจได้รับผลกระทบ โดยตรวจวัดมลสารที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทุกแห่งอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญต่อการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่บริเวณโดยรอบของโครงการโรงไฟฟ้าโดยละเอียด ตลอดจนวางแผนการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน การซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งจะลดผลกระทบจากการปล่อยมลพิษทางอากาศต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

สำหรับการดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บี.กริม เพาเวอร์ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงนั้น มีการติดตั้งระบบหัวฉีดเผาไหม้แบบ Dry Low NOx (DLN) สำหรับควบคุมการเกิดออกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งเป็นมลพิษหลักของโครงการ โดยมีการควบคุมแบบอัตโนมัติ และติดตั้งเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS-Continuous Emission Monitoring) โดยมีการสอบทาน (Audit) CEMs เป็นประจำ ทุก 1-3 ปี รวมทั้งการตรวจวัดแบบสุ่มบริเวณปล่อง (Stack Sampling) หน่วยผลิตไอน้ำ (HRSG -Heat Recovery Steam Generators) เพื่อตรวจวัดปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ฝุ่นละออง (TSP) ออกซิเจน (O2) อุณหภูมิปลายปล่อง และอัตราการไหลของก๊าซ (Flue Gas Flow Rate) อ้างอิงวิธีการตรวจสอบและสอบทานตามข้อกำหนดของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. EPA) โดยเก็บตัวอย่างอากาศจากปล่องระบายมลพิษทางอากาศ และทำการวิเคราะห์ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด และตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าเป็นประจำทุก 6 เดือน

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด และไม่มีข้อร้องเรียนด้านคุณภาพมลภาวะทางอากาศ

หน่วย 2563 2564 2565 2566
การปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ( NOx) ตัน 2,851 3,529 3,045 2,424
การปล่อยก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ (SOx) ตัน 130 101 94 56
การปล่อยฝุ่น (TSP) ตัน 93 164 124 67

การจัดการคุณภาพอากาศในภาพรวมทุกพารามิเตอร์มีค่าลดลงจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าทดแทน ที่มีค่าควบคุมคุณภาพอากาศเข้มข้นขึ้นจากโครงการเดิม ประกอบด้วยโครงการ BPLC1, BGPM1-2 และ ABP1-2

การสร้างความตระหนักภายในองค์กร

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างจิตสำนึกและฝึกอบรมให้แก่พนักงานและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอทั้งในภายในและภายนอกองค์กร เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ และสร้างตระหนักถึงผลกระทบและความเสี่ยงในด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 เราได้ส่งเสริมความรู้และฝึกอบรมพนักงานในด้านสิ่งแวดล้อมรวม 1,530 ชั่วโมงต่อปี โดยมีหลักสูตรการอบรมด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อาทิ หลักสูตรการบริหารจัดการและการตรวจติดตามภายในแบบองค์รวมสำหรับ ISO 14001: 2015 หลักสูตรผู้ปฏิบัติงานประจำระบบบำบัดมลพิษอากาศ หลักสูตรผู้ดูแลระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการเข้าร่วมงานสัมมนาหรือรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องหลักการจัดการขยะ มาตรฐานคุณภาพอากาศสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ เป็นต้น

รายงานการวิเคราะห์
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 3 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 1 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 2 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 3 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 4 จำกัด บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 5 จำกัด บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 2 จำกัด บริษัท บี.กริม บีไอพี เพาเวอร์ 1 จำกัด บริษัท บี.กริม บีไอพี เพาเวอร์ 2 จำกัด บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ดับบลิวเอชเอ) 1 จำกัด