นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

โอกาสและความท้าทาย

ในปัจจุบันองค์กรทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาก๊าซที่ผันผวน และความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการของลูกค้าและส่งผลให้สภาพแวดล้อมในการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมขององค์กร เพื่อให้สามารถปรับตัวและตอบรับความท้าทายดังกล่าว โดยการสรรหานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล พร้อมการร่วมมือกับพันธมิตรโดยต่อยอดจากความแข็งแกร่งของธุรกิจปัจจุบัน เพื่อให้เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พร้อมบรรลุเป้าหมายสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ร่วมกับประชาคมโลก โดยยังคงประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี นอกจากจะส่งเสริมให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ (Resilience) แล้ว ยังเสริมศักยภาพทางการแข่งขันและสร้างโอกาสในการเติบโตระยะยาวอีกด้วย

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

  ปี 2566
ผลงาน
ปี 2566 - 2573
เป้าหมาย
นวัตกรรม

ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC)

พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เครื่องมือและโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero สำหรับภาคอุตสาหกรรม

 

เปิดให้นักศึกษาสายเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยในประเทศเข้าร่วมโครงการ B.Grimm Pioneering Runway 2023

สนับสนุนระบบนิเวศของการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสตาร์ทอัพ รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

 

โครงการ B.Grimm Pioneering Runway 2023 ร่วมกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง Global Innovation Catalyst (GIC)

ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งระดับประเทศและระดับโลกเพื่อบ่มเพาะโครงการนวัตกรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

โครงการ Data Hub และ Data Governance เพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจ

เตรียมความพร้อมสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data driven)

การบริหารจัดการและกลยุทธ์

นโยบายและความมุ่งมั่น (Policy and commitment)

มุ่งมั่นสร้างสรรค์โซลูชั่นด้านพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการจัดการด้านพลังงานที่ยั่งยืนในองค์กรแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมและบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเรายังคงให้บริการด้านการจัดการพลังงานที่เชื่อถือได้และส่งกระแสไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม ตลอดจนมุ่งเน้นการสร้างธุรกิจใหม่ที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจพลังงาน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ New S-curve สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green ขององค์กร เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การจัดหาแหล่งพลังงาน การผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงการจัดส่งกระแสไฟฟ้าไปยังลูกค้า

ขณะเดียวกันเรายังมุ่งมั่นเตรียมความพร้อมองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานระหว่างแผนก และประสิทธิภาพของต้นทุน สู่การสร้างโอกาสในเชิงธุรกิจและคุณค่าในระยะยาว ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบฐานข้อมูล พร้อมกำกับดูแลด้านความปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล

โครงสร้างการกำกับดูแล
ด้านนวัตกรรม

มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม (Innovation Studio) ขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงทำงานร่วมกับ ฝ่ายวางแผนระบบและธุรกิจเอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ของบี.กริม เพาเวอร์ ตั้งแต่ปี 2565 ภายใต้สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืนรายงานรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ - สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน และสายงานธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย และคณะกรรมการนวัตกรรม โดยหน่วยงาน Innovation Studio มีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือการริเริ่มและการดำเนินการโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในบี.กริม เพาเวอร์ และกลุ่มบริษัทในเครือ บี.กริม ผ่านลักษณะงานอันหลากหลาย อาทิ การบริหารจัดการกลุ่มโครงการ (Project Portfolio Management) การศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มและการทำแผนที่เทคโนโลยี (Technology Roadmap and Foresight) การบริหารจัดการและสรรหาความร่วมมือกับพันธมิตร (External Partnership and Ecosystem Management) การจัดทำโครงการบ่มเพาะธุรกิจ (Accelerator programme) การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในองค์กร (Innovation Culture) การสนับสนุนการลงทุนด้านนวัตกรรม (Innovation Investment Supports) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดำเนินการแบบองค์รวมในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการนวัตกรรม สร้างการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร โดยรายงานผลดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริหารปีละ 2 ครั้ง และรายงานผลการดำเนินงานประจำปีต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน

ด้านการเตรียมความพร้อมองค์กรสู่ยุคดิจิทัล

จัดตั้งหน่วยงาน บี.กริม ดิจิทัล (B.GRIMM Digital) โดยนับตั้งแต่ปี 2566 หน่วยงานดังกล่าวได้เข้ามาบริหารจัดการด้านดิจิทัลแบบองค์รวม ซึ่งมีหน้าที่และบทบาทครอบคลุม ในด้าน เทคโนโลยีเชิง ปฏิบัติการ (Digital Operation) การเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) การกำกับดูแลด้านดิจิทัล (Digital Governance) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) รวมถึงการพัฒนาซอฟท์แวร์ หรือการทดลองและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Digital Technology) ที่จะสามารถมาปรับใช้กับโรงไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม โดยหน่วยงาน บี.กริม ดิจิทัล มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการเติบโตขององค์กร และผลักดันในการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยร่วมมือกับศูนย์นวัตกรรมบี.กริม เพาเวอร์ ทั้งนี้ บี.กริม ดิจิทัล มีการรายงานความคืบหน้า พร้อมทั้งการวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์กร ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล ซึ่งประกอบ ไปด้วยผู้บริหารสูงสุดของ บี.กริม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารโรงไฟฟ้า และผู้บริหารด้านการเงิน

กลยุทธ์

นวัตกรรม

Industrial Solutions

มุ่งพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นเพื่อส่งมอบการบริการแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ดังนี้

Distributed Generation:

เครือข่ายของระบบไฟฟ้า (Grid) ที่วิเคราะห์และบริหารจัดการประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงกับพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา รถพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ และระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่

Energy Management Solutions (การใช้ระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ) :

พัฒนาศักยภาพองค์กรเพื่อให้บริการที่จะตอบสนองความต้องการมุ่งสู่ Net zero ของลูกค้า รวมถึงสร้างบริการเสริมใหม่ๆ รวมถึงบริการด้านการจัดการประสิทธิภาพพลังงาน

Renewable Energy Offerings

สร้างโซลูชั่นที่สามารถปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Tailored solutions) โดยเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และการมุ่งสู่เป้าหมาย Net zero

มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิม

โดยการสร้างระบบการบริหารจัดการพลังงานจากหลายแหล่ง ระบบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนระบบการบริหารจัดการการซื้อขายพลังงานจากโครงข่ายพลังงาน เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้พลังงานไฟฟ้า ไอน้ำ และพลังงานทดแทนได้อย่างต่อเนื่อง

ขยายธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน

โดยยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรทั้งระดับประเทศและระดับโลก เพื่ออุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า

สร้าง พัฒนาและขยายธุรกิจในรูปแบบใหม่

นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานเดิม ผ่านการร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและนวัตกรรม


การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในกระบวนการทำงานขององค์กร

  • ประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ ๆ พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงาน
    รวมถึงต่อยอดสร้างคุณค่าเชิงธุรกิจ
  • กำกับดูแลความปลอดภัยไซเบอร์และความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายและมาตรฐานสากลเพื่อสร้างให้องค์กรมีความยืดหยุ่น (Resilience) พร้อมรับมือต่อสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ
  • การพัฒนาศักยภาพของบุคคล ทั้งหน่วยงานด้านดิจิทัลและพนักงานทั่วองค์กร ให้สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัลในการปฏิบัติงาน และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ผลการดำเนินงานปี 2566

ลงทุนในระบบ Energy Management System (EMS)

ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการพลังงาน ที่จะส่งเสริมโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid (ระบบไฟฟ้าที่ทำงานและตอบสนองอย่างชาญฉลาด มีประสิทธิภาพมากขึ้น) โดย EMS เป็นระบบเทคโนโลยีที่ติดตาม ตรวจสอบการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ คำนวณ และควบคุมสั่งการแหล่งพลังงานเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเหมาะสม ตรงกับสภาพการใช้พลังงานจริง ตลอดจนช่วยวางแผนการขยายโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับ Schneider Electric และ Yokogawa Electric Corporation

พัฒนาระบบ Digital Twins (โรงไฟฟ้าจำลองดิจิทัล)

ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ประยุกต์ใช้กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักใน Smart Grid โดยร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ โดยมีจุดประสงค์โครงการ ได้แก่

1) เพื่อประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพโดยรวมของการผลิตไฟฟ้า

2) เพื่อการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนสุขภาพและระยะเวลาการใช้งานของเครื่องจักรล่วงหน้า เพื่อช่วยวางแผนซ่อมบำรุงได้ทันท่วงทีก่อนที่เครื่องจักรจะเสียหาย ป้องกันผลกระทบต่อกระบวนการผลิต และ

3) เก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านการผลิตและการปฏิบัติงานต่างๆเกี่ยวกับกระบวนการทำงานที่ต้องการอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

โดยมี 3 ระบบหลัก ได้แก่ AI Health Monitoring ระบบ Continuous Performance Optimisation (CPO) และ ระบบ Common Plant Information Management System (PI) (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หัวข้อ “ความเป็นเลิศด้านพลังงานและการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า” )

ใช้ระบบบริหารจัดการโหลดไฟฟ้าครบวงจร (Advance Distributed Management System: ADMS)

สำหรับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม โดยบริหารจัดการตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากหลากหลายแหล่ง ควบคุมระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ให้เราสามารถ สั่งการ ควบคุมและบริหารจัดการข้อมูลจากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์ที่ใช้รวบรวมข้อมูล และซอฟแวร์ที่สามารถเชื่อมทุกระบบของแหล่งพลังงานที่มีระบบสื่อสาร (Supervisory Control and Data Acquisition Remote Terminal Units: SCADA RTU) เข้าไว้ด้วยกัน ตลอดจนสามารถวิเคราะห์ข้อมูล และทำการทดลองสถานการณ์จำลองเองได้ตามสถานการณ์บนระบบจริง รวมถึงทำการคาดการณ์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการทำ Energy Trading ให้พร้อมต่อประกาศการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ในอนาคต

บริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)

โดยใช้ซอฟต์แวร์ Distributed Energy Resource Management System (DERMS) เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในการติดตั้ง Solar Rooftop PV และจัดการให้ระบบมีเสถียรภาพ แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม

นำเสนอข้อมูลเรื่องใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC)

เพื่อส่งเสริมความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และสนับสนุนการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ ตลอดจนความต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (scope 2) ของลูกค้า ซึ่งใบรับรองเหล่านี้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวลโดยได้รับมาตรฐานใบรับรองการผลิตพลังงาน หมุนเวียนในระดับสากล (The I-Track Foundation: I-REC (E)) และรับรองโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 REC โดยในปี 2566 มีการส่งมอบให้ลูกค้ารวม 20 องค์กร สนับสนุน ส่งเสริมโครงการการลงทุนการใช้พลังงานหมุนเวียน

ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล ผ่านโครงการ “B.Grimm Pioneering Runway 2023”

หลักสูตรพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ร่วมกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง Global Innovation Catalyst (GIC) เริ่มดำเนินการในปี 2565 มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของนวัตกรรม ในการเชื่อมต่อ สตาร์ทอัพจากคนรุ่นใหม่กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน โดยสร้างกลุ่มบุคลากรภายใน พันธมิตรธุรกิจและกลุ่มนักศึกษาสายเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศที่มีความสนใจและความสามารถในด้านเทคโนโลยี การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล และนวัตกรรมให้ได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีการทำงานที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนกระตือรือร้นในการเรียนรู้เรื่องใหม่ เพื่อการพัฒนาโซลูชั่น ทั้งในด้านทักษะการทำธุรกิจสมัยใหม่ การออกแบบธุรกิจ (Business Model) และลงมือทำให้ประสบผลสำเร็จ ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทิศทางที่เติบโตอย่างยั่งยืนโดยมีโครงการธุรกิจที่ถูกคิดค้น พัฒนาและนำเสนอจำนวน 11 โครงการ ที่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร

ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการภายในองค์กร (Digital Transformation) โดยมีโครงการที่สำคัญ ดังนี้
จัดทำ Data Hub แพลตฟอร์ตสำหรับการจัดการเชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานอย่างเป็นระบบ

นำเสนอในรูปแบบรายงานและสรุปภาพรวม (report and dashboard) ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลจากแผนกต่างๆ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินผล ช่วยให้สามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที ทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร ทั้งนี้ การทำ Data Hub รวมถึงการทำ Data governance หรือการกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการข้อมูล รวมถึงการจัดจำแนกข้อมูล (data classification) การทำความสะอาดข้อมูล (data cleansing) และคลังเก็บข้อมูล (data warehouse) เพื่อให้เกิดข้อมูลที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล โดยในปี 2566 ได้จัดทำโครงการนำร่องครอบคลุมหน่วยงานที่สำคัญ เช่น ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ฝ่ายวิศวกรรมระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ฝ่ายบริการลูกค้าและโซลูชั่น และในปี 2567 เราวางแผนจะขยายไปสู่หน่วยงานอื่นๆ เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายการบัญชีและการเงิน ฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิคโรงไฟฟ้า และมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุม ทั้งองค์กรต่อไป  นอกจากนี้ Data Hub ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data driven) โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม Big Data เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต

Enterprise Resource Planning (ERP) platform

แพลตฟอร์มที่ช่วยในด้านการวางแผนและการจัดการกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบยิ่งขึ้น บี.กริม เพาเวอร์ ได้ใช้แพลตฟอร์ม ระบบ Oracle EBS ร่วมกับระบบคลาวด์ โดยนำมาพัฒนาระบบการเงินและการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ในปี 2565 จากเดิมระบบดังกล่าวจะเน้นใช้งานเฉพาะด้านบัญชี ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงและการใช้ฐานข้อมูลระหว่างงานบัญชี การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารคู่ค้า ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างแผนกและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการอีกด้วย ซึ่งภายหลังจากเริ่มใช้งานระบบแล้ว ได้มีการติดตามผล เก็บข้อมูลและพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบให้ช่วยส่งเสริมการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในปี 2567 เรามีแผนจะอัพเกรดระบบการปิดงบการเงินรวม (Financial Consolidation and Close System: FCCS)

ปรับปรุงและประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการองค์กร ครอบคลุมด้านเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการ (Digital Operation) โดยมีโครงการที่สำคัญในปี 2566 ได้แก่
การย้ายระบบการสื่อสารเชื่อมโยงเป็น Software-Defined Wide-Area Network (SD WAN) ซึ่งช่วยลดต้นทุนของค่าใช้จ่ายของระบบโครงข่ายหลักและระบบสำรอง เทียบกับจากเดิมที่เป็นการส่งสัญญาณผ่านสายไฟเบอร์ออปติก
การย้ายระบบ Oracle EBS Disaster Recovery (DR site) ที่ใช้ทำงานแทนเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่อระบบหลัก ขึ้นสู่ระบบคลาวด์ (On cloud) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเทียบกับแบบเดิมที่เก็บข้อมูลอยู่ในพื้นที่ (On-site)
การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี 4G สำหรับการเชื่อมต่อในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากเดิมที่เป็นการส่งข้อมูลผ่านสายไฟเบอร์ออปติก ซึ่งมีค่าบำรุงรักษาสูง