ความเป็นเลิศด้านพลังงานและการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า

โอกาสและความท้าทาย

การให้บริการไฟฟ้าและไอน้ำที่มีคุณภาพสูงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไฟฟ้าและไอน้ำมีเสถียรภาพต่ำจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตสินค้าและการให้บริการซึ่งส่งผลเสียหายต่อภาคธุรกิจได้ ยิ่งไปกว่านั้นการพัฒนาความเป็นเลิศด้านพลังงาน ยังส่งผลถึงการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอันจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ การลดอัตราการปล่อยมลพิษและลดขยะที่ไม่จำเป็น รวมถึงส่งเสริมประสิทธิภาพของต้นทุนอีกด้วย ขณะที่ปัจจุบันลูกค้ามีแนวโน้มพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonisation) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการสรรหาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านการจัดการพลังงานจึงมีความสำคัญมากขึ้นต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

ปี 2566 ปี 2567 - 2568
ผลงาน เป้าหมาย เป้าหมาย
ความเป็นเลิศด้านพลังงานไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม - ค่าประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน 52.1% >50% >50%
พลังงานแสงอาทิตย์ – ร้อยละของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงต่อปี 15.6% >15% >15%
พลังงานลม - ร้อยละของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงต่อปี 31.2% >27% >27%
การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
ผลสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า1 97.7% >95% >95%

1สัดส่วนของลูกค้าที่มีความพึงพอใจตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป ต่อลูกค้าทั้งหมด โดยการสำรวจครอบคลุมร้อยละ 100 ของลูกค้าทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ

การบริหารจัดการและกลยุทธ์

ความมุ่งมั่น

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงสูงสุดด้วยระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำคุณภาพสูงด้วยพลังงานที่มีเสถียรภาพและความพร้อมจ่าย (Reliability and Availability) ของระบบโครงข่ายไฟฟ้า สะอาด ยั่งยืน ในราคาที่เข้าถึงได้ (Affordability) พร้อมมุ่งพัฒนาและแสวงหานวัตกรรม โซลูชั่นใหม่ ๆ จากการพัฒนาความร่วมมือกับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตของพลังงานคาร์บอนต่ำ สร้างความพึงพอใจและความผูกพัน เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรและเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

โครงสร้างการกำกับดูแล

การบริหารโรงไฟฟ้าเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดและการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าอยู่ภายใต้การดูแลของผู้จัดการโรงไฟฟ้า (Powerplant manager) ซึ่งรายงานตรงต่อกรรมการผู้จัดการโรงไฟฟ้ากลุ่มโรงไฟฟ้า (Managing Director) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ – สายงานลูกค้าสัมพันธ์และปฏิบัติการโรงไฟฟ้า โดยเรื่องสำคัญจะถูกพิจารณาตัดสินใจโดยคณะกรรมการบริหาร

ความเป็นเลิศด้านพลังงาน

นอกเหนือจากการบริหารประสิทธิภาพในแต่ละโรงไฟฟ้าภายใต้ผู้จัดการโรงไฟฟ้าแล้ว เรายังมีฝ่ายประสิทธิภาพการปฏิบัติการ ที่ทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานของทุกโรงไฟฟ้า ร่วมมือกับแต่ละโรงไฟฟ้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพโดยรวมอย่างสม่ำเสมอ

ด้านการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า

เรามีทีมงานลูกค้าสัมพันธ์ประจำแต่ละโรงไฟฟ้าที่รายงานตรงต่อรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ - สายงานลูกค้าสัมพันธ์และปฏิบัติการโรงไฟฟ้า มีหน้าที่ติดตาม ให้ข้อมูล ประสานงาน และรับฟังความเห็น ความคาดหวังหรือความต้องการตลอดจนแนวโน้มธุรกิจของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ โดยทำงานร่วมกับฝ่ายขายและการตลาด และฝ่ายวางแผนระบบและธุรกิจเอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ที่สังกัดต่อรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ - สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าและร่วมกันคิดค้นหาโซลูชั่นใหม่ ๆ วางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของลูกค้าในระยะยาว

กลยุทธ์
  • ขยายสู่การบริการด้านพลังงานครบวงจร
    ยังมุ่งเน้นการส่งมอบพลังงานที่มั่นคง มีเสถียรภาพและความพร้อมจ่าย (Availability and Reliability) ในราคาที่เข้าถึงได้ (Affordability) ผสมผสานพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน และขยายสู่การเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านพลังงานที่ตอบโจทย์ลูกค้าอุตสาหกรรม (Tailored solution) พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
  • ขยายฐานสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่
    ได้แก่ เจ้าของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจที่มากขึ้น นอกเหนือจากลูกค้าเดิมที่เป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม
  • นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้า
    เพื่อช่วยบริหารจัดการโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนการซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสม ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า (Forced/ Unplanned outage)
  • ร่วมกับพันธมิตรในการศึกษา ทดลองและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
    เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และส่งเสริมความยั่งยืนด้านพลังงาน โดยผสมผสานการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ใช้ระบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า
    ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้นำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
  • การสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเป็นประจำทุกปี
    ครอบคลุมลูกค้าทั้งหมดจากในประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนวิเคราะห์ผลสำรวจ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการบริการ เพื่อส่งเสริมความพึงพอใจของลูกค้า ร่วมสร้างคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับลูกค้า
  • มีทีมงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง ประจำโรงไฟฟ้าทุกแห่ง พร้อมบริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
    เพื่อตรวจสอบการจ่ายไฟให้แก่ลูกค้าในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง
  • การบริหารข้อร้องเรียน
    จัดช่องทางร้องเรียนสำหรับลูกค้าในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ โทรศัพท์ อีเมล์ จดหมาย และเว็บไซต์ โดยสามารถติดต่อได้ทั้งโรงไฟฟ้าและสำนักงานใหญ่
  • การบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล
    ประกาศนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อป้องกันความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถดำเนินการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างทั่วถึงทุกหน่วยงาน ครอบคลุมลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน

ผลการดำเนินงานปี 2566

ความเป็นเลิศด้านพลังงาน

เรายังคงเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยรวมส่งผลให้ ในปี 2566 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ โดยมีค่าประสิทธิภาพการผลิตพลังงานในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ร้อยละ 52.1 และมีดัชนีความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า (Availability Factor) ที่ร้อยละ 97.4 โดยมีโครงการที่โดดเด่น ดังนี้

โครงการ Digital Twins

เป็นระบบบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ประยุกต์ใช้กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักใน Smart Grid มีจุดประสงค์โครงการ ได้แก่

1) เพื่อประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพโดยรวมของการผลิตไฟฟ้า และเพื่อการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนสุขภาพและระยะเวลาการใช้งานของเครื่องจักรล่วงหน้า

2) เพื่อช่วยวางแผนซ่อมบำรุงได้ทันท่วงทีก่อนที่เครื่องจักรจะเสียหาย ป้องกันผลกระทบต่อกระบวนการผลิตโครงการ

3) เก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านการผลิต และการปฏิบัติงานต่างๆ เช่น การเดินเครื่องสำหรับวิเคราะห์ประสิทธิภาพ กำลังการผลิต งานบำรุงซ่อมแซมและการขายไฟฟ้า

โดยมีองค์ประกอบหลัก ดังนี้

  • ระบบ AI Health Monitoring : ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อประมวลผลข้อมูลการเดินเครื่องสำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพและ กำลังการผลิต งานบำรุงซ่อมแซมและการขายไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและป้องกันความเสียหายต่ออุปกรณ์ ส่งผลให้การใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง โดยร่วมมือกับ REPCO NEX ภายใต้ SCG Chemical โดยในปีนี้ได้ขยายผล รวม 14 โครงการ ได้แก่ โครงการ ABP 3-5, ABPR 1-5, BIP 1-2, BPWHA1, BPAT1, BGPM1R, และ BPLC1
  • ระบบ Continuous Performance Optimisation (CPO) : เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและประสิทธิภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า ด้วยความร่วมมือกับบริษัท Siemens โดยมีโครงการนำร่องที่ ABP 3-5 ในปี 2565-2566
  • ระบบ Common Plant Information Management System (PI) : เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านการผลิตและการปฏิบัติงานต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจสูงสุดเกี่ยวกับกระบวนการทำงานที่ต้องการการควบคุมและติดตามกระบวนการผลิตอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลการเดินเครื่องสำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ, กำลังการผลิต, งานบำรุงซ่อมแซมและการขายไฟฟ้า โดยในปีนี้ได้ขยายผล รวม 17 โครงการ ได้แก่ โครงการ ABP 1-5, ABPR 1-5, BPWHA1, BPAT1-3, AIE-MTP, และ BPLC1

ระบบบริหารจัดการโหลดไฟฟ้าครบวงจร (Advanced Distribution Monitoring System: ADMS) แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ ติตตาม ควบคุมระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า จากหลากหลายแหล่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา พลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เป็นต้น) รวมถึงช่วยวิเคราะห์ วางแผนการปฏิบัติการ ให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม (Optimisation) รักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resources: DERs) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบควบคุมเครือข่ายอัจฉริยะ (Smart network control system) โดยมีโครงการนำร่อง ได้แก่ โรงไฟฟ้า ABP 1-5 และ ABPR 1-5

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่พัฒนาประสิทธิภาพและเสถียรภาพการผลิต เช่น
  • การนำอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในโรงไฟฟ้าทดแทน (Replacement) อาทิ เครื่องกังหันก๊าซ (Gas turbine) และ ฮีตเตอร์แก๊ส (Gas Heater) ซึ่งส่งผลให้มีอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 10 - 15 ต่อหน่วยผลิต เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าเดิม โดยรวม 5 โรงไฟฟ้าในปี 2566
  • การอัพเกรดเครื่องกังหันก๊าซ (Gas turbine) ในโรงไฟฟ้าเดิม ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 7 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ลดจำนวนวันในการซ่อมบำรุงแบบหยุดตามวาระ (Planned outage maintenance) รวมถึงลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงร้อยละ 1 ต่อโครงการ ทั้งนี้ ในปี 2566 ได้ดำเนินการอัพเกรดดังกล่าวในโรงไฟฟ้า SSUT 2 ส่งผลให้มีการอัพเกรดรวม 101 โรงไฟฟ้านับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2561
  • โครงการ Smart Data Logger Solar Farm โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการสร้างการรายงานและติดตามผลการดำเนินงาน เน้นการวิเคราะห์ผลสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างอัตโนมัติ และเปรียบเทียบเพื่อดำเนินการปรับปรุง จากผลการดำเนินงาน โครงการนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าได้มากขึ้นร้อยละ 5 โดยในปีที่ผ่านมา เราได้ขยายการอัพเกรดระบบ Smart Logger ครอบคลุมทุกโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย
  • ในปี 2567 บริษัทมีแผนการจัดทำโครงการนำร่อง โดยการนำแผงโซล่าร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพการใช้งาน มาปรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับไฟรั้วและพื้นที่สำนักงานของโรงไฟฟ้า สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยเป็นบริษัทย่อยของ บี.กริม เพาเวอร์จำนวน 8 โรงไฟฟ้า และบริษัทร่วม กิจการร่วมค้า (Joint venture) 2 โรงไฟฟ้า

การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า

ในปี 2566 เราได้ใช้ประเด็นการสำรวจให้ครอบคลุมใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านความเชื่อมั่นต่อองค์กร ด้านคุณภาพของบริการสาธารณูปโภคไฟฟ้า ด้านบุคลากรและการบริการ และด้านการสื่อสาร โดยรวมมีลูกค้าที่พึงพอใจร้อยละ 97.7 ครอบคลุมทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ เทียบกับเป้าหมายที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 95 โดยได้นำผลการสำรวจมาวิเคราะห์ ปรับปรุงและต่อยอดการบริการ ทั้งนี้ ไม่มีข้อพิพาท ฟ้องร้องระหว่างบี.กริม เพาเวอร์และลูกค้า รวมถึงไม่พบกรณีการละเมิดและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าในปีที่ผ่านมา โดยมีการดำเนินงานที่โดดเด่นดังนี้

บริการ Customer web service

แพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ลูกค้าสามารถดูปริมาณการใช้งานไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาได้ทันที รวมถึงสามารถเรียกดูประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง เพื่อนำไปวิเคราะห์ วางแผนจัดการและบริหารการใช้ไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและจัดทำแผนบริหารพลังงาน (Energy management) ในอนาคต

การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand-side management)

เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม มีการวางแผนร่วมกันกับลูกค้าในการปรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาเพื่อส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนพลังงานโดยโรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (Peak) และ ช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off peak)

นำระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relation Management: CRM)

เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้า เพื่อควบคุมและติดตามผลการปฏิบัติงานให้มีความผิดพลาดในการทำงานลดน้อยลง ช่วยให้มีประสิทธิภาพทั้งงานขาย และการดูแลลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างตรงจุด เพิ่มโอกาสในการขาย

จัดอบรมบุคลากรฝ่ายขายและฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์

เพื่อส่งเสริมความรู้ให้เท่าทันกับสถานการณ์ และพัฒนาศักยภาพของพนักงานในการให้บริการเพื่อรองรับโอกาสการเติบโตในอนาคต ในปีที่ผ่านมา ได้จัดอบรมในหลากหลายหัวข้อ เช่น ทิศทางนโยบายธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ระบบการอ่านหน่วยมิเตอร์แบบอัตโนมัติ (Automatic Meter Reading หรือ AMR) แนวทางการดูแลลูกค้า การคำนวณค่าไฟฟ้า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำ การซื้อขายพลังงาน (Energy trading) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานทดแทน และคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

จัดให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าพบปะเยี่ยมเยียนลูกค้า

เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ตลอดจนรับทราบความเห็นและความต้องการ เพื่อพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ของลูกค้า รวมถึงการติดตามแนวโน้มธุรกิจของลูกค้า ตลอดจนแผนการลงทุนและแผนการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนบริหารปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดได้ดียิ่งขึ้น โดยในปี 2566 มีการขยายขอบเขตการเข้าพบปะลูกค้าจากลูกค้ารายหลักเป็นเข้าพบปะลูกค้าทุกราย

จัดการอบรมให้ความรู้กับลูกค้า

ในเรื่องของการคำนวณค่าไฟฟ้า เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าแต่ละราย (Tailored Solution) ส่งผลให้ลูกค้าสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าได้ดีขึ้น โดยมีแผนขยายจัดการอบรมดังกล่าวให้ครอบคลุมลูกค้าทุกรายที่ตอบรับแผนงานการนำเสนอข้อมูล

จัดงานประชาสัมพันธ์ร่วมกับพันธมิตร อมตะ บี.กริม เพาเวอร์

และแนะนำการให้บริการ ตลอดจนทิศทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้พลังงานสะอาดไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เจ้าของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น