โอกาสและความท้าทาย

บี.กริม เพาเวอร์ ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ร่วมมือกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นการลดความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เช่น ด้านการจัดหาสินค้าและบริการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต ด้านภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของลูกค้า ตลอดจนส่งเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Resilience) เพื่อให้บริษัทและผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทาน สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

  ปี 2566
ผลการดำเนินงาน
ปี 2566
เป้าหมาย
คู่ค้ารับทราบแนวทางจรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า (% ของคู่ค้าทั้งหมด)1 100 % 100 %
ตรวจประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) (% ของคู่ค้าหลักและคู่ค้าทางอ้อม)2 2 100 % 100 %
ตรวจประเมินการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเชิงลึกกับคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ (Significant Suppliers)2 และวางแผนงานในการปรับปรุงปัญหาด้าน ESG ร่วมกัน (% ของคู่ค้าหลักที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ) 100 % 100 %

1 ครอบคลุมคู่ค้าที่มียอดซื้อขายจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งบี.กริม เพาเวอร์มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 92.6 ของรายได้ทั้งหมด

2 บี.กริม เพาเวอร์ จำแนกคู่ค้าตามระดับความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของเรา และความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้า ดังนี้

  1. คู่ค้าหลัก (Critical Tier 1 Suppliers) คู่ค้าที่มีมูลค่าสั่งซื้อสูง มีการสั่งซื้อต่อเนื่อง สินค้า/ บริการมีความสำคัญสูง หรือระดับการพึ่งพาคู่ค้าสูง
  2. คู่ค้าทางอ้อม (Non-tier 1 Suppliers) คู่ค้าที่จัดหาสินค้า/ บริการให้คู่ค้าหลัก ซึ่งสินค้าและบริการดังกล่าวมีผลกระทบต่อธุรกิจของบี.กริม เพาเวอร์โดยตรง
  3. คู่ค้าหลักที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ (Significant Suppliers) คู่ค้าหลักและคู่ค้าทางอ้อมที่มีผลการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ในระดับปานกลางและสูง

การบริหารจัดการและกลยุทธ์

นโยบายและความมุ่งมั่นของเรา
บี.กริม เพาเวอร์ ได้ประกาศ “จรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า” (Supplier Code of Conduct and Guidelines for Sustainability : SCOC) เชื่อมโยงกับขั้นตอนการจัดซื้อ (Procurement Procedure) โดยมุ่งหวังให้คู่ค้าดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับจรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยประเด็นจริยธรรมทางธุรกิจ การปฏิบัติด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่นอกเหนือจากเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงความพยายามที่จะส่งเสริมให้คู่ค้าขจัดผลกระทบด้านลบและส่งเสริมผลกระทบเชิงบวกสุทธิต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากการดำเนินการของคู่ค้าได้รับการว่าจ้าง

จรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า

ด้านสิ่งแวดล้อม
  • การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
  • การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ก๊าซเรือนกระจก
  • การจัดการของเสียและควบคุมมลพิษ
  • สารเคมีและวัตถุอันตราย
ด้านสังคม
  • ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  • การป้องกัน และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน
  • สิทธิมนุษยชน
  • การปฏิบัติต่อลูกจ้าง
  • การมีส่วนร่วมต่อชุมชน และสังคม
  • เสรีภาพในการรวมเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ และการเจรจาต่อรอง
ด้านจริยธรรมทางธุรกิจ
  • การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
  • จริยธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ
  • การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและการเก็บรักษาความลับ
  • ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • มาตรฐานด้านคุณภาพ
โครงสร้างการกำกับดูแล

บี.กริม เพาเวอร์ แบ่งการกำกับดูแลและบริหารงานจัดซื้อจัดจ้างเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1) การจัดหาวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาระยะยาว ได้แก่ การจัดหาก๊าซธรรมชาติ น้ำ หรือวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงและกำกับดูแลโดยแผนกบริหารสัญญา

2) การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการทั่วไป โดยมีกระบวนการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา วิธีสอบราคา วิธีประกวดราคา กรณีการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูงต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างแต่งตั้งโดยคณะกรรมการจัดการ และตรวจรับโดยคณะกรรมการตรวจรับ เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้องของงาน

กลยุทธ์

บี.กริม เพาเวอร์ กำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานบี.กริม เพาเวอร์ ทุกคนมีหน้าที่สนับสนุน ผลักดัน และปฏิบัติภายใต้นโยบายและกรอบการบริหารจัดการการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด โดยมีกลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า มุ่งเน้น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

การปฏิบัติตามและความโปร่งใส
  • มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส
  • คัดเลือกคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีงานของสังคม
ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
  • คัดเลือกคู่ค้าที่คำนึงถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัยและผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ พนักงาน ชุมชนและสังคม ตอบสนองต่อเป้าหมายการเป็นสถานประกอบการที่ปราศจากอุบัติเหตุและการเสียชีวิต
ความสัมพันธ์และโอกาสทางธุรกิจ
  • ปฏิบัติกับคู่ค้าอย่างเท่าเทียมเสมอภาค พร้อมรักษาความสัมพันธ์อันดี
  • แสวงหาความร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อลดความเสี่ยงและต่อยอดโอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม
  • ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้า
ความรับผิดชอบด้าน ESG
  • คัดเลือกคู่ค้าที่คำนึงถึงความรับผิดชอบด้าน ESG ผ่านการประเมินตนเองของคู่ค้าระหว่างการคัดเลือกและการปฏิบัติงาน โดยมีการตรวจสอบผลการประเมินจากบี.กริม เพาเวอร์
การบริหารจัดการคู่ค้า

บี.กริม เพาเวอร์ ตระหนักถึงความสำคัญด้านความยั่งยืน จึงกำหนดให้รวมเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกระบวนการบริหารจัดการคู่ค้า ร่วมกับการรักษาคุณภาพและความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้า โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ผ่านกระบวนการ ดังนี้

กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคู่ค้า

คู่ค้าต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นในด้านคุณภาพ ราคา กำหนดส่งมอบ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และเกณฑ์ด้าน ESG ถูกนำมาใช้ตั้งแต่กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคู่ค้า เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าที่จะว่าจ้างอยู่ในระดับคุณภาพที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือ โดยคู่ค้าทุกรายต้องรับทราบและปฏิบัติตาม “จรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า” (Supplier Code of Conduct and Guidelines for Sustainability : SCOC) รวมถึงให้ความร่วมมือในการตรวจประเมินการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามจรรยาบรรณฯ

การขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่

คู่ค้าใหม่จะต้องทำแบบประเมินตนเอง (New Vendor Pre-Qualification Form) และจะต้องรับทราบจรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า

สำหรับคู่ค้าที่มีมูลค่าการซื้อขายเกิน 5 ล้านบาท ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของคู่ค้าจะถูกนำมาพิจารณาในเกณฑ์การคัดเลือกโดยคณะกรรมการจัดซื้อ มีน้ำหนักในการพิจารณาที่ร้อยละ 10

การจำแนกประเภทคู่ค้า

มีการกำหนดเกณฑ์ในการจำแนกคู่ค้า เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม รวมถึงการประเมินความเสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างและหลีกเลี่ยงผลกระทบด้าน ESG จากการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า ดังนี้

1) คู่ค้าหลัก (Critical Tier 1 Supplier) คู่ค้าที่มีมูลค่าสั่งซื้อสูง มีการสั่งซื้อต่อเนื่อง สินค้า/บริการมีความสำคัญสูง หรือ ระดับการพึ่งพาคู่ค้าสูง

2) คู่ค้าทางอ้อม (Non-tier 1 Suppliers) คู่ค้าที่จัดหาสินค้า/ บริการให้คู่ค้าหลัก ซึ่งสินค้าและบริการดังกล่าวมีผลกระทบต่อธุรกิจของบี.กริม เพาเวอร์โดยตรง

3) คู่ค้าหลักที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ” (Significant Suppliers) คู่ค้าหลักและคู่ค้าทางอ้อมที่มีผลการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG อยู่ในระดับปานกลางและสูง ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจประเมินผลการปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนของคู่ค้าอย่างต่อเนื่องทุกปี

การตรวจประเมินผลการดำเนินงานและการปรับปรุงจากการตรวจประเมิน

จะมีการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้าผ่านการตรวจประเมินตนเองของคู่ค้า (Self-assessment) การอ้างอิงการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่สากลยอมรับของคู่ค้า และ / หรือการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการของคู่ค้า (Company Visit) รายปีสำหรับคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ (Significant Suppliers) ที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ในระดับปานกลางและสูง และทุก 3 ปีในกรณีที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ระดับต่ำ โดยมีการจัดทำรายงานการตรวจและติดตามการแก้ไขปัญหา และวางแผนการพัฒนาศักยภาพร่วมกัน

แนวทางการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG

บี.กริม เพาเวอร์ จัดประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ครอบคลุมคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจทั้งหมด (ร้อยละ 100) เป็นประจำทุกปี พิจารณาจากความเสี่ยงด้าน ESG จากประเทศที่คู่ค้าทำธุรกิจ (Country-specific risk) อ้างอิงตามดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานด้าน ESG ระดับประเทศ ดังนี้

ESG ประเด็นที่พิจารณา ดัชนีที่ใช้อ้างอิง
ธรรมาภิบาล
(Governance)
  • การต่อต้านการคอร์รัปชั่น
  • นโยบายด้านภาษี
  • ความปลอดภัยด้านไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
  • Corruption Perception Index (CPI)
  • Transparency and exchange of information for tax purposes (OECD)
  • The Global Cybersecurity Index (GCI)
สิ่งแวดล้อม
(Environment)
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การจัดการน้ำและน้ำเสีย
  • ความหลากหลายทางชีวภาพและการทำลายป่าไม้
  • การจัดการของเสียและการหมุนเวียนทรัพยากร
  • EPI: Climate Change Subindex
  • ND-GAIN: Water Subindex
  • EPI: Ecosystem Subindex
  • EPI: Waste management Subindex
สังคม
(Social)
  • อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • การดูแลแรงงาน
  • แรงงานบังคับ
  • แรงงานเด็ก
  • ความหลากหลายและการมีส่วนร่วม
  • Occupational Fatalities per 100,000 workers (ILO)
  • Global Rights Index (ITUC)
  • Global Slavery Index (Walkfree Foundation)
  • Children Rights in the Workplace Index (UNICEF)
  • Global Gender Gap Index (WEF)

นอกจากนี้ได้ประเมินความเสี่ยงผ่านการจัดกลุ่มคู่ค้าตามกลุ่มลักษณะของสินค้าหรือบริการ (Sector-specific risk) อ้างอิงจาก Global Industry Classification Standard (GICS) และบริบทการดำเนินธุรกิจของเรา แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม กลุ่มสารเคมี กลุ่มพลังงาน กลุ่มสาธารณูปโภค และธุรกิจที่ปรึกษา โดยระบุประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่สำคัญในแต่ละมิติของแต่ละกลุ่มคู่ค้า เพื่อทำการพิจารณาระดับความรุนแรง (Severity) และโอกาสในการเกิด (Likelihood) ในตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) ตามเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงระดับองค์กร เพื่อระบุคู่ค้าที่มีความเสี่ยงด้าน ESG โดยมีการตรวจประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG เชิงลึก (Comprehensive ESG Audit) สำหรับคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ (Significant Suppliers) ที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงด้าน ESG สูงและปานกลางอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี และทุกๆ 3 ปีสำหรับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงระดับต่ำ เพื่อให้คำแนะนำและวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของคู่ค้า ตลอดจนติดตามความคืบหน้าตามแผนงานที่กำหนดร่วมกันเป็นประจำทุกปี

ผลการดำเนินงานปี 2566

  • ในปี 2566 มีคู่ค้าทั่วไปลำดับที่ 1 รวม 1,084 ราย ประกอบด้วย คู่ค้าหลัก จำนวน 24 ราย และไม่มีคู่ค้าทางอ้อม จากการประเมิน พบว่ามีคู่ค้าที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ในระดับปานกลางและสูง จำนวน 18 ราย ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ
  • ดำเนินการตรวจประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG เชิงลึกกับคู่ค้าหลักที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ จำนวน 18 ราย โดยคู่ค้าทุกรายที่มีการตรวจประเมินได้จัดทำแผนงานและกรอบเวลาในการปรับปรุงประเด็นปัญหาด้าน ESG
  • คู่ค้าใหม่ร้อยละ 100 รับทราบจรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า