โอกาสและความท้าทาย

การมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก เพื่อจำกัดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจะต้องมีการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของโลกลงถึงร้อยละ 80 ภายในปี 2593 ก่อให้เกิดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในระดับสากล อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism) เริ่มทดลองใช้ในสหภาพยุโรปในปี 2566 และมีแนวโน้มในการขยายขอบเขตครอบคลุมประเภทธุรกิจและภูมิภาคอื่นของโลกเพิ่มเติมภายในปี 2573 ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บี.กริม เพาเวอร์ ตระหนักถึงความสำคัญของความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยประเมินผลกระทบต่อธุรกิจและผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เรามุ่งมั่นพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลยุทธ์ การจัดการความเสี่ยง รวมถึงเป้าหมายและตัวชี้วัด เพื่อบูรณาการกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ได้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการและการประเมินผลกระทบทางการเงินจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ Task Force on Climate-Related Financial Disclosure (TCFD) ซึ่งแสดงความเชื่อมโยงระหว่าง กลยุทธ์ขององค์กร การบริหารความเสี่ยง และแผนการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

  ปี 2566
ผลการดำเนินงาน
ปี 2573
เป้าหมาย
กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน1 (% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) 27% › 50%
อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 (tCO2e/MWh) 0.37 ‹ 0.28 2

1 นับจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการทั้งหมด ณ สิ้นปี
2 หรือลดลงในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 21 จากปีฐาน (2564)

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 2 องศาเซลเชียส (2.0°C pathway) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส (ความตกลงปารีส Paris Agreement) โดยกำหนดแผนงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA – International Energy Agency) สำหรับกลุ่มประเทศนอกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – Organization for Economic Co-operation and Development) มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้า (tCO2e/MWh)

การบริหารจัดการและกลยุทธ์

ความมุ่งมั่นของเรา

บี.กริม เพาเวอร์มีโครงสร้างการกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน รวมถึงกรอบการจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรวมการจัดการ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อดังกล่าวสู่การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทั้งสำหรับโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและการขยายธุรกิจ เรามุ่งมั่นสร้างคุณค่าระยะยาวโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เราเชื่อมั่นว่าการกำกับดูแลอันมั่นคง มีการตรวจสอบภายในและถ่วงดุลที่เหมาะสม เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำพาองค์กรตามแนวทางความยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี การปฏิบัติการด้านผลกระทบและการดูแลสภาพภูมิอากาศถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นในองค์กร ในเส้นทางสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของเรา ประกอบด้วยนโยบายไม่ลงทุนในถ่านหินและ การปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต นอกจากนี้เรามุ่งมั่นพัฒนาและลงทุนในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำด้วยแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อสนับสนุนชุมชน สังคม ประเทศต่าง ๆ รวมถึงโลก

โครงสร้างการกำกับดูแล
การกำกับดูแลความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในระดับคณะกรรมการ
  • คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทที่สำคัญในการกำกับดูแลและติดตาม รวมทั้งเฝ้าระวังความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์ขององค์กรด้านสภาพภูมิอากาศสอดคล้องและสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ของบริษัท
  • คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน เป็นคณะกรรมการชุดย่อย ทำหน้าที่ตัดสินใจในประเด็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
    • การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศต่อการดำเนินงาน การเงิน และชื่อเสียงของบริษัท อาทิ ความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวน การเปลี่ยนแปลงกฎหมายรวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า
    • การพัฒนาและปรับปรุงนโยบายและกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
    • ติดตามความคืบหน้าของกลยุทธ์และการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องผ่านเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อวัดผลความก้าวหน้าและความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานตามความเหมาะสม
    • จัดให้มีการรายงานข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรายงานทางการเงินในช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในความโปร่งใสของบริษัทในการบริหารความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประเมินและการจัดการความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในระดับคณะกรรมการจัดการ
  • วิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท โดยระบุและประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการ การเงิน และชื่อเสียงของบริษัท ครอบคลุมกรณีสภาพอากาศแปรปรวน การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า
  • พัฒนาแผนงานและแผนปฏิบัติงานเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์และนโยบายจากคณะกรรมการบริษัท โดยกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์กร มีการทบทวนความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานทุกไตรมาส และรายงานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนทุกครึ่งปี
  • จัดตั้งคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน ประกอบด้วยพนักงานระดับอาวุโสจากแต่ละหน่วยงานใน บี.กริม เพาเวอร์มาร่วมกันดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ในด้านสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และรายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแผนงานต่อคณะกรรมการจัดการ
  • จัดให้มีทีมงานสนับสนุนฝ่ายปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน ในการดำเนินนโยบายและแผนงานอย่างมีประสิทธิผล
  • วางเป้าหมายและผลตอบแทนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งในระดับผู้บริหารและระดับผู้จัดการของหน่วยงานต่างๆ ต่อผลงานที่เชื่อมโยงต่อการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ อาทิ การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การส่งผ่านข้อมูลภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ

กลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยง

ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” เราได้พัฒนากลยุทธ์หลัก “GreenLeap – Global and Green” มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเป็นผู้นำในการบริหารพลังงานที่ยั่งยืน เป้าหมายของเราคือการส่งมอบพลังงานและการบริการที่ครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราให้คำมั่นสัญญาที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับพันธมิตรทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

  • เราติดตามการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยมีการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด พร้อมทั้งวางนโยบายการลงทุนเพื่อการเติบโตในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลังงานผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงาน
  • หน่วยงานบริหารความเสี่ยง กลยุทธ์องค์กร และความยั่งยืนของเรา และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภายนอกได้ร่วมกันประเมินเพื่อระบุความเสี่ยงด้านกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงผลกระทบในเชิงปริมาณที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรอบด้านโดยรวบรวมและจัดทำเป็นรายงานโดยคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
  • แผนภาพด้านล่างแสดงกระบวนการที่เราใช้ในการระบุ ประเมินและจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และการบูรณาการเข้ากับการบริหารความเสี่ยงทั้งหมดขององค์กร ครอบคลุมด้านกลยุทธ์องค์กร การเงิน ความเป็นผู้นำและคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้เสีย ชื่อเสียงองค์กรและการกำกับดูแลกิจการขององค์กร การดำเนินธุรกิจ และการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ

การบริหารความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของ บี.กริม เพาเวอร์

ความเสี่ยงด้านกายภาพ

เราพิจารณาเลือกความเสี่ยงด้านกายภาพที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญมาทำการวิเคราะห์เหตุการณ์และแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นผ่านฉากทัศน์ต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่ากลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เราระบุความเสี่ยงด้านกายภาพตามตำแหน่งที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและสถานที่ตั้งของหน่วยงาน

โดยมีวิธีการดำเนินงาน 4 ขั้นตอนผ่านการวิเคราะห์จากข้อมูลในอดีต และความเป็นไปได้หรือแนวโน้มที่ความเสี่ยงจะเกิดขึ้น เพื่อใช้ในการระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการวางแผนงานในการบริหารจัดการความเสี่ยง ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: การวิเคราะห์ฉากทัศน์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขั้นตอนที่ 2: ระบุผลกระทบต่อธุรกิจและการดำเนินงานอย่างชัดเจน

ขั้นตอนที่ 3: ประเมินความรุนแรงและของผลกระทบต่อธุรกิจและการดำเนินงาน รวมทั้งผลกระทบด้านการเงิน

ขั้นตอนที่ 4: พัฒนาแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้ระบุไว้

การประเมินความเสี่ยงของโรงไฟฟ้าทุกโรงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่สภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงที่สุด ส่งผลต่อการเกิดภาวะ ‘water stress’ หรือความเครียดน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าของเรามีการจัดทำแนวทางบริหารจัดการน้ำในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวและตั้งเป้าหมายในการลดการใช้น้ำรวมถึงวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำในการผลิต

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านคือความเสี่ยงด้านการเงินจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบผลิตไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำในอนาคต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบี .กริม เพาเวอร์

คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของเราได้ทำการระบุความเสี่ยงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่าน ระบุขอบเขตของผลกระทบ และช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน โดยเลือกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งโอกาสทางธุรกิจที่จะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัท ประกอบไปด้วย

  • กลไกและการกำหนดราคาคาร์บอน รวมไปถึงภาษีคาร์บอน ระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission-trading system – ETS)
  • กฎข้อบังคับของการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น
  • ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษต่ำ
  • การเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า
  • การเปลี่ยนแปลงด้านชื่อเสียงของบริษัทในมุมมองของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย

โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ภายใต้แนวโน้มหรือฉากทัศน์ที่แตกต่างกันใน 3 มิติได้แก่ ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เป้าหมายของการลดอุณหภูมิโลก และเป้าหมายของกฎเกณฑ์ที่เป็นกรอบใหญ่ของประเทศและภาคอุตสาหกรรม

การระบุความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

บี.กริม เพาเวอร์ ได้พิจารณาความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อผลประกอบการและองค์กรอย่างชัดเจนใน 3 ช่วงเวลาด้วยกันคือ

1. ช่วงระยะสั้น ปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2568

2. ช่วงระยะกลาง ปี พ.ศ. 2569 ถึง พ.ศ. 2573

3. ช่วงระยะยาว ปี พ.ศ. 2574 ถึง พ.ศ. 2593

ความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ

ความเสี่ยงด้านกายภาพ
ผลกระทบฉับพลันและรุนแรง ผลกระทบระยะยาวและต่อเนื่อง

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

P1 น้ำท่วม

P2 พายุใต้ฝุ่น

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

P3 ระดับน้ำทะเลหนุนสูง

P4 สภาพอากาศร้อนมาก

P5 ความเครียดน้ำ

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน
ผลกระทบจากนโยบายและกฏหมาย ผลกระทบจากเทคโนโลยี

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

T1 ค่าใช้จ่ายด้านคาร์บอน (ภาษี เงินช่วยเหลือ)

T2 กฎระเบียบที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและการรายงานก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

T3 ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

ผลกระทบจากตลาด ผลกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

T4 ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น (ก๊าซธรรมชาติ ก๊าชธรรมชาติเหลว)

T5 พฤติกรรมผู้บริโภคสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

T6 การเปลี่ยนแปลงของชื่อเสียงองค์กรในหมู่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย

โอกาสทางธุรกิจ
ประสิทธิภาพด้านทรัพยากร แหล่งพลังงาน

ในทุกช่วงเวลา

O1 เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

O2 เปลี่ยนสู่การกระจายการผลิตไฟฟ้า

O3 รายได้จากการขายไฟฟ้าที่ผ่านมาตรฐานการรับรองคุณลักษณะทางพลังงาน

ผลิตภัณฑ์และบริการ ตลาด

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

O4 ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการคาร์บอนต่า

ช่วงเวลา ระยะกลางถึงยาว

O5 ขยายธุรกิจสู่ตลาดแห่งใหม่

เนื่องจากรายได้หลักของ บี.กริม เพาเวอร์ มาจากการขายไฟฟ้าภายใต้สัญญาการซื้อขายระยะยาว เราจึงมุ่งเน้นการบริหารและจัดการความเสี่ยงในช่วงระยะเวลาสั้นถึงกลาง ส่วนระยะยาวจะมุ่งเน้นการค้นหาโอกาสทางธุรกิจ

เราได้ศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อธุรกิจของเราโดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อจัดเตรียมแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า แหล่งข้อมูลที่สำคัญมาจากการประชุมของคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD – Task Force on Climate-related Financial Disclosures) โดยเฉพาะการประชุมว่าด้วยเรื่อง ”การเปิดเผยข้อมูลในช่วงการเปลี่ยนผ่าน การเปิดเผยข้อมูลด้านการเงินและโอกาสใหม่ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไฟฟ้า การผลิตและสาธารณูปโภค” นอกจากนี้ เราได้นำคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาร่วมวิเคราะห์และพิจารณาทั้งด้านความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจและการดำเนินงาน และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการและการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ของเรา

โดยสรุปเราสามารถระบุความเสี่ยงด้านกายภาพได้ 5 ด้าน ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านใน 6 ด้าน และโอกาสทางธุรกิจใน 5 ด้านที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาสั้นถึงกลาง หรือในช่วงปี พ.ศ. 2566-2573 ดังแสดงในรูป ความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ

หลังจากการระบุความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจดังกล่าวแล้ว เราจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันพิจารณาและประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงแต่ละตัวต่อธุรกิจและผลประกอบการของเราภายใต้ฉากทัศน์ต่างๆ ที่เราคาดไว้ โดยมีความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญตามตาราง “ตัวชี้วัดในการบริหารความเสี่ยง”

ตัวชี้วัดในการบริหารความเสี่ยง

ความเสี่ยง คำอธิบายและเหตุผล ตัวชี้วัด
P5. ความเครียดน้ำ (Water Stress) หรือการขาดแคลนน้ำ
  • การขาดแคลนน้ำอาจทำให้ผลประกอบการของ บี.กริม เพาเวอร์ลดลง (หน่วยเป็นบาทต่อปี) เนื่องจากการลดการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลัก
  • จำนวนวันที่กังหันไอน้ำ (steam turbine) หยุดการผลิต (วันต่อปี)
  • การสูญเสียรายได้ (บาทต่อปี)
T1. ความเสี่ยงจากราคาคาร์บอน
  • ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นจากภาษีที่เกิดจากการกำหนดราคาคาร์บอนและกำหนดสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนสำหรับธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปัจจุบันไม่ครอบคลุมต้นทุนดังกล่าว
  • ราคาคาร์บอน (บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
O3. โอกาสในการขายผลิตภัณฑ์และบริการสีเขียว อาทิ เครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC (E))
  • รายได้จากการซื้อขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC (E))ให้กับลูกค้าที่ต้องการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
  • ราคาเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC (E)) (บาทต่อเครดิต)
การประเมินความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

บี.กริม เพาเวอร์ ได้นำความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญและตัวชี้วัดมาพิจารณาผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในเชิงปริมาณเพื่อแสดงผลกระทบต่อผลประกอบการและการเงินผ่านฉากทัศน์ต่างๆ ที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้

เป้าหมายการลดอุณหภูมิโลก ตามมาตรการของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งสัมพันธ์กับแนวทางการดำเนินงานที่เป็นไปได้ทั้งหมดดังนี้

ฉากทัศน์ คำอธิบาย ผลกระทบต่อแนวทางดำเนินงาน
1. SSP1 1-2.6 (1.5 oC) Scenario
  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้
  • ดำเนินธุรกิจโดยจัดทำแผนงานและดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้น
2. SSP1 2-4.5 (2 oC) Scenario
  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้
  • เป็นฉากทัศน์ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ระหว่างกลางระหว่างฉากทัศน์ 1 และ 3
3. SSP1 5-8.5 (4.4 oC) Scenario
  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 4.4 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้
  • ดำเนินธุรกิจโดยไม่มีแผนและการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ

1Shared Socioeconomic Pathways

ฉากทัศน์จากกฎเกณฑ์และเป้าหมายของประชาคมโลก จากรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านซึ่งส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อบี.กริม เพาเวอร์ อาทิ แรงกดดันจากผู้มีส่วนได้เสียให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เราสามารถทำกำไรจากธุรกิจเดิมลดลง แต่รายได้จากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและการขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของเราเติบโตขึ้น โดยฉากทัศน์ที่เกี่ยวข้องมี 3 เหตุการณ์ ได้แก่

  1. Stated Policies Scenario – STEPS (นโยบายประกาศจริง)
    เป็นนโยบายที่ประกาศโดยประเทศต่างๆ ที่สะท้อนและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของโลกในความต้องการใช้พลังงานในแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใดในแต่ละช่วงเวลาของอนาคต)
  2. Sustainable Development Scenario – SDS
    เป้าหมายที่แต่ละประเทศต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
  3. Net-Zero Emission Scenario – NZE
    เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เมื่อนำเป้าหมายที่แตกต่างกันทั้งสามมาประกอบในการพิจารณา เราสามารถวิเคราะห์ถึงผลกระทบโดยใช้สมมติฐานต่างๆ ในแต่ละฉากทัศน์และเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นชัดถึงตัวชี้วัดในการบริหารความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจ สมมติฐานเหล่านี้นำมาสรุปในภาพดังต่อไปนี้

มูลค่าเป็นตัวเลขของตัวชี้วัดวิเคราะห์จากฉากทัศน์ของสภาพภูมิอากาศที่ต่างกัน

ความเสี่ยงด้านกายภาพ SSP5-8.5 (4.4°C) Scenario SSP2-4.5 (2°C) Scenario SSP1-2.6 (1.5°C) Scenario
ความเครียดน้ำ หรือการขาดแคลนน้ำสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
กังหันไอน้ำหยุดการผลิต 30 วันต่อครั้ง 1 กังหันไอน้ำหยุดการผลิต 15 วันต่อครั้ง 1 ไม่เกิดผลกระทบ 2
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน STEPS (2.3°C) Scenario SDS (1.65°C) Scenario NZE (1.5°C) Scenario
ภาษีคาร์บอน3
-4 34 USD/tCO2 60 USD/tCO2
รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-RECs)
2 USD/MWh 3 USD/MWh 5 USD/MWh

1 เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าบางแห่ง
2 เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าบางแห่ง
3 อ้างอิงจากอัตราภาษีคาร์บอนอ้างอิงนโยบายภาษีคาร์บอนของประเทศสิงคโปร์ โดยมีอัตราที่ 34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ในกรณีสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 60 เหรียญสหรัฐในกรณีสอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
4
 สมมติฐานว่าหากรัฐบาลไทยประกาศบังคับใช้ภาษีคาร์บอน จะเลือกใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาติ คือที่เป้าหมายอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.65 องศาเซลเชียสก่อนสิ้นสุดศตวรรษนี้ ทำให้ไม่มีการจ่ายภาษีคาร์บอน ในฉากทัศน์ของนโยบายประกาศจริง (STEPS)

ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์จะได้รับผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนจากตัวชี้วัดดังกล่าวในปี 2573 ดังนี้

ผลกระทบจากความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศต่อธุรกิจของบริษัทฯ ในปี พ.ศ. 2573

ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงด้านกายภาพ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน โอกาสทางธุรกิจ
ความเสี่ยง
P1. ความเครียดน้ำและการขาดแคลนน้ำ
T1. ความเสี่ยงจากราคาคาร์บอน
O3. โอกาสจากการขายผลิตภัณฑ์และบริการ
สีเขียว (ที่ได้รับการรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน)
สินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบ
โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
โรงไฟฟ้าพลังงานลม
โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ
ผลกระทบจากความเสี่ยงที่ระบุไว้
การขาดแคลนน้ำอาจทำให้การผลิตไอน้ำร้อนต้องหยุดชะงักและต้นทุนค่าน้ำสูงขึ้น กฎหมายการกำหนดราคาคาร์บอนอาจเพิ่มต้นทุนต่อการดำเนินงาน หากมีบทบัญญัติห้ามการส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อลูกค้า มีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อการผลิตและขายผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทําให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ผลกระทบต่อผลประกอบการที่คาดไว้ในปี พ.ศ. 2573
98-195 ล้านบาท1 0-15,300 ล้านบาท2 125-315 ล้านบาท5
ค่าใช้จ่ายในการบริหารและบรรเทาความเสี่ยง
ในปี พ.ศ. 2573
9-39 ล้านบาท3 29 ล้านบาท4 -

1 ผลกระทบต่อผลประกอบการจากการขาดแคลนน้ำอ้างอิงจาก WRI-Aqueduct ประกอบกับข้อมูลปริมาณน้ำที่มีจริงในแต่ละพื้นที่ โดยมีโรงไฟฟ้าได้รับผลกระทบ 4 แห่งประเมินผลกระทบในแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงิน 98 ล้านบาทในกรณี SSP 5-8.5 (สมมติฐานให้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นไม่เกิน 4.4 องศาเซลเชียสในศตวรรษนี้) หรือ 195 ล้านบาทในกรณี SSP 2-4.5 (สมมติฐานให้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเชียสในศตวรรษนี้) และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น 1 ครั้งทุก 5 ปี
2 เนื่องจากการขายไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นแบบระบบผู้ซื้อรายเดียว และภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทฯ นั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ภาษีคาร์บอนจะไม่ได้จัดเก็บที่ผู้ผลิต แต่จัดเก็บที่ผู้บริโภค ทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนมาก ในกรณีที่ บริษัทฯ ต้องรับภาระภาษีคาร์บอนและไม่สามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้ ประมาณการผลกระทบอยู่ระหว่าง 8,670-15,300 ล้านบาท (บนสมมติฐานราคาภาษีคาร์บอนที่ 34-60 เหรียญสหรัฐต่อตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
3 แผนการบรรเทาผลกระทบระยะสั้นของบริษัทฯ คือการขนส่งน้ำเพิ่มเติมทางรถบรรทุกคิดเป็นค่าใช้จ่าย 9 ล้านบาท และระยะยาวคือการจัดทำบ่อกักเก็บน้ำเพิ่มเติมคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 39 ล้านบาท
4 ในปัจจุบัน เราได้ดำเนินการปรับปรุงกังหันก๊าซคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 29 ล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตได้ปีละ 0.03 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และช่วยลดค่าเชื้อเพลิงในการเดินเครื่องทำให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ด้วย
5 คาดการณ์ค่าใช้จ่ายการซื้อขายผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวนเงิน 2 ล้านบาท

แผนการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านกายภาพ

การขาดแคลนน้ำในพื้นที่โรงไฟฟ้าถือเป็นความเสี่ยงด้านกายภาพที่สำคัญต่อธุรกิจของเรา บี.กริม เพาเวอร์ จึงกำหนดให้โรงไฟฟ้าทุกโรงติดตามข้อมูลปริมาณน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานในพื้นที่ และจัดทำแผนฉุกเฉินและแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ

  • ระบุให้บริษัทฯ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้จัดส่งน้ำได้ตามสัญญาการซื้อขายน้ำในกรณีที่น้ำมีคุณภาพต่ำ
  • จัดทำรายการผู้จัดส่งน้ำสำรองที่สามารถจัดส่งน้ำให้ได้ในช่วงวิกฤติ
  • ปรับปรุงระบบจัดการน้ำหล่อเย็นสำหรับหอหล่อเย็นให้มีประสิทธิภาพ
  • นำน้ำที่แยกได้จากกระบวนการตกตะกอนมาหมุนเวียนใช้ในกระบวนการผลิต
  • จัดทำคู่มือการทำงานโดยมีแผนการปฏิบัติงานในช่วงการขาดแคลนน้ำ

ดูรายละเอียดของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ของเราได้ที่หัวข้อการจัดการน้ำในหน้า “การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการดำเนินงานปี 2566

ค่าความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง)

บี.กริม เพาเวอร์ ในฐานะบริษัทผู้ผลิตและบริการพลังงานไฟฟ้าชั้นนำ มีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการผลิต และผลักดันให้องค์กรในห่วงโซ่ธุรกิจทุกรายให้ร่วมมือเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ผ่านการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าและรณรงค์การประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง กำหนดกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยการนำก๊าซธรรมชาติเหลวมาใช้ในช่วงแรก และมีการกำหนดราคาคาร์บอนครอบคลุมสถานการณ์ทางธุรกิจต่างๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจโดยรักษาผลกำไรและลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่กัน รวมถึงการปลูกป่าและศึกษาเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

ความมุ่งมั่นของเราส่งผลให้ระดับความเข้มของก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 10.4 ในช่วงปี พ.ศ. 2561 ถึงปี พ.ศ. 2566 โดยปี 2566 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้

  1. การขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 มีการขยายเพิ่มเติม 247 เมกกะวัตต์ ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,072 เมกกะวัตต์
  2. การประยุกต์เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อาทิ การขยายขอบเขตของโครงการ Digital Twins ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการโรงไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวางแผนผลิตและซ่อมบำรุง
  3. การปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการใช้เชื้อเพลิงต่อหน่วย และสามารถดำเนินงานในสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูง โดยการปรับปรุง (upgrade) เครื่องกังหันก๊าซ (Gas turbine) สำหรับโรงไฟฟ้าเดิม โดยมีการปรับปรุงในโรงไฟฟ้า 1 โครงการในปี 2566 ทำให้มีการปรับปรุงในโรงไฟฟ้าสะสมรวม 10 โครงการตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในปี 2561
  4. การขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ การลงทุนในระบบ Energy Management Systems (EMS) และระบบจำหน่ายไฟฟ้าขั้นสูง (Advance Distribution Monitoring System: ADMS) เพื่อควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าได้ตรงความต้องการ ช่วยวางแผนการขยายโครงข่าย และรักษาเสถียรภาพในการจ่ายไฟฟ้า นอกจากนี้เราสามารถนำเสนอใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ได้มาตรฐานสากล (I-REC) จากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำของเราให้กับลูกค้ากว่า 20 ราย

ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมในหน้าความเป็นเลิศด้านพลังงานและการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ และโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติม ในหน้า นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัล

นอกจากนี้เราได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานสอดคล้องกับการปรับตัวต่อความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2566 ดังนี้

  1. โครงการลดการใช้น้ำและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ อาทิ การปรับปรุงระบบหล่อเย็นเพื่อรับน้ำทิ้งจากการบำบัดและลดการสูญเสียน้ำจากการระเหย การนำน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ในระบบหล่อเย็น สามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 319,413 ลูกบาศก์เมตร/ปี
  2. โครงการปรับปรุงถังเก็บน้ำในโรงไฟฟ้า ABP 1-5 ให้สามารถใช้น้ำร่วมกันในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าที่ติดกัน เพื่อให้สามารถจ่ายน้ำได้ในภาวะขาดแคลนน้ำฉุกเฉิน

ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดของโครงการลดการใช้น้ำเพื่อปรับตัวต่อความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในหน้า การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง