โครงการภายใต้เป้าหมายการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ที่ที่เราดำเนินการ

บี.กริม เพาเวอร์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและควบคุมผลกระทบจากการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบในทุก ๆ ที่ที่เราดำเนินการ และมุ่งหวังที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมชุมชนให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน จึงมุ่งมั่นที่จะจัดทำโครงการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเน้นโครงการที่ส่งเสริมด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆที่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ที่ดำเนินการ อาทิ โครงการ บวร (บ้าน วัดโรงเรียน) บี.กริม โครงการศูนย์การเรียนรู้การกสิกรรมเพื่อความยั่งยืน เซนำน้อยและเซกะตำ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โครงการก่อสร้างน้ำประปาชุมชน ให้แก่ประชาชนบ้านน้ำตวด เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก รวมไปถึงโครงการชุมชนต้นแบบ พลังงานยั่งยืน โครงการ B.Grimm Nature Farming (สู่วิถีธรรมชาติกับโรงไฟฟ้าบี.กริม) เป็นต้น โดยมีรายละเอียดโครงการที่โดดเด่นดังนี้

โครงการ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) บี.กริม

โครงการ บี.กริม บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) เปิดตัวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ณ หมู่บ้าน บีกริม (หมู่ที่ 8) ตำบล คลองทับจันทร์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งประกอบไปด้วย หมู่บ้านบีกริม วัดบีกริม และโรงเรียนบีกริม เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งเติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนอย่างครบทุกมิติในทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน และคน และบูรณาการให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ “บ้าน วัด โรงเรียน” และเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ชุมชนรักถิ่นฐานบ้านเกิด มีการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง มีรายได้ และมีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข มีสมดุลในชีวิต เราได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ชุมชน วัด และโรงเรียน

โดยในปี 2565 บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เดินหน้าผลักดันโครงการฯต่อ โดยใช้ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ในการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตของนักเรียนและสมาชิกในชุมชน สำหรับแนวทางของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา คือ การใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน จัดทำเป็นแผนระยะยาว โดยมีกิจกรรมหลัก 9 ประการ ได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน 2. การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาครู นักเรียน และสมาชิกในชุมชน 3. การจัดตั้งแปลงเกษตรขจัดความยากจน 4. การจัดตั้งกองทุนเงินออมและเงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพ 5. การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน 6. การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุ 7. การสนับสนุนด้านสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม และปลูกต้นไม้ 8. การบริหารจัดการและติดตามให้คำแนะนำ และ 9. การประเมินผลโครงการ

นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมนำร่อง “การจัดตั้งแปลงเกษตรขจัดความยากจน” บนพื้นที่ของโรงเรียน บี.กริม โดยมีครู นักเรียน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าอาวาสวัดบี.กริม และชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมการจัดตั้งฟาร์มเมล่อนและฟาร์มองุ่น การวางระบบน้ำโซล่าเซลล์ในโรงเรือน การอบรมเรื่องเครื่องสีข้าวและการซีลผลิตภัณฑ์เกษตร การบริหารจัดการแปลงผัก การอบรมการทำน้ำยาป้องกันโรคและแมลงจากวัตถุดิบพื้นบ้าน ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ โดยมุ่งหวังว่าผลลัพธ์จากกิจกรรมฯ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนช่วยสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียนและชุมชนมากยิ่งขึ้น พร้อมต่อยอดให้โรงเรียน บี.กริม กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรด้านฟาร์มเมล่อนและฟาร์มองุ่นแห่งแรกของจังหวัดสระแก้ว ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจในอนาคต ทั้งนี้นอกเหนือจากกิจกรรมจัดตั้งฟาร์ม เมล่อน ฟาร์มองุ่น และแปลงเกษตรต่างๆ แล้ว บี.กริม และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ยังจัดให้มีการอบรมเรื่องการจัดตั้งกองทุนเงินออมและเงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพ อาทิ กองทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ให้กับคนในชุมชนนำไปลงทุนประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และส่งเสริมการออม และกองทุนธุรกิจนักเรียน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับนักเรียนและส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน เป็นต้น

ในปี 2566 เรายังคงเสริมสร้างทักษะอาชีพและคุณภาพชีวิตให้แก่โรงเรียนและคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการดำเนินงานที่โดนเด่นในเรื่องของแปลงเกษตรขจัดความยากจน ที่สามารถสร้างรายได้กว่า 62,000 บาท พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ทดลองลงมือทำการเกษตรที่หลากหลาย เช่น

  • การปลูกเมล่อน จัดตั้งโรงเรือนเมล่อน 3 โรงเรือน ซึ่งปลูกเมล่อนรวม 6 ครั้ง โดยสามารถปลูกได้ประมาณ 100 ถึง 250 ผลต่อครั้งต่อโรงเรือน
  • การปลูกพืชผักรอบสระน้ำของโรงเรียนที่สามารถนำไปจำหน่ายในชุมชนได้ เช่น กุ้ยช่าย มะเขือ ผักบุ้ง สะระแหน่ ผักกาด ผักชีลาว เห็ดนางฟ้า ดอกบัว เป็นต้น ผ่านวิธีการปลูกที่หลากหลายตามความเหมาะสม อาทิ การปลูกผักในวงบ่อ การปลูกผักบุ้งในตะกร้า การปลูกผักในยางรถยนต์ รวมไปถึงการปลูกผักยกโต๊ะ
  • การทำปศุสัตว์ คือ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงกบ การเลี้ยงไก่และเป็ด

ดังนั้น โรงเรียนบี.กริม จึงนับเป็นแหล่งศึกษาดูงานในเรื่องการปลูกเมล่อน การเกษตร คหกรรม และอื่นๆ ให้กับโรงเรียนใกล้เคียง รวมถึงยังเป็นพี่เลี้ยงในด้านการจัดทำโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ให้กับโรงเรียนจากประเทศกัมพูชา ได้แก่ โรงเรียนสันติเพียบและโรงเรียนสามัคคีเมียนเจยอีกด้วย

ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อธุรกิจ
  • แสดงจุดยืนในการขับเคลื่อนสังคมตามหลักปรัชญาใน “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีควบคู่ไปกับการพัฒนาความศิวิไลซ์ แก้ไขปัญหา และสนับสนุนสิ่งจำเป็น เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและมอบความสุขให้ทุกคน
  • สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าด้วยการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ที่ที่เราดำเนินการ
  • ลดข้อขัดแย้งและข้อร้องเรียนจากชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า
ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • เพิ่มจำนวนชาวบ้านโดยรอบโรงเรียน รวมถึงครูและนักเรียนในโรงเรียนที่ได้รับการพัฒนาประสบการณ์และองค์ความรู้ในทักษะอาชีพ ด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม คหกรรม และการสร้างกองทุน เช่น การปลูกเมล่อน การปลูกองุ่น การปลูกเห็ด การแปรรูปอาหาร การทำเบเกอรี่ การทำขนมไทย เป็นต้น
  • เพิ่มจำนวนโรงเรือนเกษตรของโรงเรียนและชุมชน (ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2565 มีการจัดตั้งโรงเรือนเมล่อนทั้งหมด 3 โรงเรือน)
  • ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และเพื่อส่งเสริมการออมเงินสำหรับผู้ปกครองของนักเรียน (ในปี 2566 มีจำนวนสมาชิกของกองทุนฯ มากกว่า 56 คน มียอดเงินฝากทั้งปี 128,500 บาท และมียอดการกู้เงิน 100,000 บาท)
  • ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนธุรกิจนักเรียน ที่เปิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และเพื่อส่งเสริมการออมเงิน และสร้างเสริมประสบการณ์การลงทุนสร้างอาชีพ (ในปี 2566 ร้านธุรกิจนักเรียนที่นักเรียนได้ลงมือทำด้วยตนเองทั้งหมด 4 หมวด ได้แก่ ธุรกิจการเลี้ยงและขายปลา ธุรกิจร้านกาแฟ ธุรกิจเบเกอรี่ และธุรกิจสกรีนแก้ว)
  • สนับสนุนและสอดคล้องไปกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ในเป้าหมายย่อยที่ 1.1 1.2 2.1 2.3 และ 8.31

โครงการศูนย์การเรียนรู้การกสิกรรมเพื่อความยั่งยืน เซนำน้อยและเซกะตำ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) เป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานของประชากรโลก บี.กริม เพาเวอร์ จึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การกสิกรรมเพื่อความยั่งยืนเซนำน้อยและเซกะตำ บริเวณโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในเมืองปากซอง แขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและเรียนรู้การทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ ตลอดจนดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้ความรู้ในการหยุดเผาป่า เพื่อช่วยรักษาหน้าดินอันเป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ รวมถึงการทำฟาร์มอินทรย์รวมถึงการปลูกผักสวนครัว หัดทำปุ๋ยหมักแบบใช้น้ำและไม่กลับกอง แทนการใช้สารเคมี เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ดิน น้ำและป่าไม้

นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้ส่งเสริมการเรียนรู้ในการทำเกษตรแนวใหม่โดยใช้พลังงานทดแทนโซล่าปั๊ม (Solar Pump) แทนการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกร รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกจิตสำนึกและความตระหนักต่อการเกษตรแบบทำลายสิ่งแวดล้อมให้เด็กและเยาวชน แจกต้นกล้าผักสวนครัวให้แก่ชาวบ้านเพื่อเลี้ยงชีพและลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาเมล็ดพันธุ์ การทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองเพื่อลดการใช้สารเคมี การปลูกข้าวไร่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นศูนย์การทดลองให้แก่ชุมชน เป็นต้น

ในปี 2566 เราได้ร่วมมือกับคณะเกษตรศาสตร์และป่าไม้ มหาวิทยาลัยจำปาสัก (คปก) ในการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านกสิกรรมให้แก่ชุมชน นักศึกษา ครู-อาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งทาง คปก ได้จัดทำแผนการเรียนการสอนเบื้องต้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานภาคสนามตามพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมการสิกรรมเพื่อความยั่งยืน เซน้ำน้อย และ เซกะตำ รวม 2 กิจกรรม ดังนี้

  • การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำปุ๋ยหมักแบบชีวภาพ และการหมักดินเพื่อปลูกพืชผัก
  • การปลูกพืชผักชนิดกินใบ และพืชขึ้นค้าง

นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ได้มีการสนับสนุนพันธุ์ไม้และต้นกล้าพืชผักสวนครัว อาทิ พริก มะเขือ ขิง และ ตะไคร้ จำนวนรวมทั้งหมด 450 ต้น ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านรอบโรงไฟฟ้า รวมไปถึงการลงสำรวจหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 3 หมู่บ้าน ร่วมกับ คปก เพื่อเก็บข้อมูลและประเมินความสามารถในการผลิตพืชผลทางการเกษตรของแต่ละหมู่บ้าน (เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์) ตลอดจนจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ประชาชนทั้ง 3 หมู่บ้าน ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

  • ฝึกอบรมด้านการปศุสัตว์ และสัตวแพทย์ให้แก่ประชาชนหมู่บ้านหนองตวง
  • ฝึกอบรมด้านการปลูกกาแฟ และการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชให้แก่ประชาชนหมู่บ้านอุปะชา
  • ฝึกอบรมด้านการปรับปรุงดิน (การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ) ให้แก่ประชาชนหมู่บ้านน้ำตวด
ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อธุรกิจ
  • แสดงจุดยืนในการขับเคลื่อนสังคมตามหลักปรัชญาใน “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีควบคู่ไปกับการพัฒนาความศิวิไลซ์ แก้ไขปัญหา และสนับสนุนสิ่งจำเป็น เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและมอบความสุขให้ทุกคน
  • สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าด้วยการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ที่ที่เราดำเนินการ
  • ลดข้อขัดแย้งและข้อร้องเรียนจากชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า
ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • เพิ่มโอกาสให้ชุมชนที่ห่างไกลตัวเมืองเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดที่ทันสมัยในราคาที่เหมาะสม
  • เพิ่มจำนวนชุมชน สังคม โดยรอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับการอบรมที่ศูนย์การเรียนรู้การกสิกรรมเพื่อความยั่งยืนเซนำน้อยและเซกะตำ (ในปี 2566 มีการจัดฝึกอบรมให้กับชุมชน นักศึกษาและอาจารย์ทั้งหมด 263 คน)
  • สนับสนุนและสอดคล้องไปกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ในเป้าหมายย่อยที่ 2.4

โครงการก่อสร้างน้ำประปาชุมชน ให้แก่ประชาชนบ้านน้ำตวด เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก

โครงการก่อสร้างน้ำประปาชุมชน ให้แก่ประชาชนบ้านน้ำตวด เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจากผลสำรวจความต้องการของชุมชน โดยสอบถามความต้องการผ่านการจัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองกองทุนไฟฟ้าพัฒนาชุมชน พบว่าชุมชนและชาวบ้านน้ำตรวดบน และน้ำตรวดลุ่ม ขาดแคลนน้ำสะอาด เพื่อใช้อุปโภคในชีวิตประจำวัน ทางบริษัทและคณะกรรมการตระหนักดีว่าการขาดแคลนน้ำสะอาด จะส่งผลต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ รวมไปถึงอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ในปี 2565 จึงได้ติดตั้งระบบน้ำประปาชุมชนให้แก่ชุมชนดังกล่าว โดยมีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 45 ครัวเรือน