โครงการภายใต้เป้าหมายการพัฒนาชุมชนและสังคมในด้านการสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพด้านการกีฬา สาธารณสุข และศิลปะของไทยไปสู่ระดับโลก

โครงการการส่งเสริมกีฬาขี่ม้า และขี่ม้าโปโล ในประเทศไทย

กว่า 20 ปี ที่ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมกีฬาขี่ม้าและกีฬาขี่ม้าโปโลในประเทศไทย โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนากีฬาให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น ยกระดับมาตรฐานกีฬาขี่ม้าให้ทัดเทียมกับนานาชาติ รวมถึงจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลเพื่อการกุศล ระดมทุนสนับสนุนโรงเรียนและมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในการพัฒนาวิชาชีพของโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมผ่านมูลนิธิมะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติฯ ตลอดจนส่งเสริมโอกาสและการสร้างอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังเมื่อกลับคืนสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี

  • การแข่งขันไทยโปโลโอเพ่น (Thai Polo Open) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบรายได้ให้แก่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษา
  • การแข่งขันควีนคัพ พิงค์โปโล (QUEEN'S CUP PINK POLO) เพื่อหารายได้มอบให้โครงการมะเร็งเต้านม ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
  • การแข่งขันบีชโปโล (Beach Polo) มอบเงินบริจาคให้กับ “มูลนิธิ ณภาฯ” ในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาเพื่อส่งเสริมโอกาสและการสร้างอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังเมื่อกลับคืนสู่สังคม

บี.กริม ได้ให้การสนับสนุนกีฬาขี่ม้ามายาวนาน ด้วยการสนับสนุนผ่านสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทยในทุก ๆ มิติ โดยมีเป้าประสงค์ที่จะยกระดับกีฬาขี่ม้าของไทยให้ไปสู่ระดับสากล ล่าสุด ได้นำพาสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทยมาสู่จุดที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างชื่อเสียงไปในระดับสากล เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พาทั้งทีมไปสู่โอลิมปิกเกมส์ได้ โดยเป็นหนึ่งใน 25 อันดับแรกของรายการ World Equestrian Games เมื่อปี 2562 สมาคมกีฬาขี่ม้ายังประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขัน FEI Asian Championships ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นสนามควอลิฟายไปสู่โอลิมปิกหนึ่งเดียวในเอเชีย โดยทีมชาติไทยได้รับเหรียญมากที่สุด และยังได้รับเหรียญทองอันดับหนึ่งในการแข่งขันครั้งแรก และล่าสุดกับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 “หางโจวเกมส์ โดยในปี 2566 นักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทยสร้างชื่อเสียงด้วยการ คว้า 1 เหรียญเงินจากการขี่ม้า Eventing ประเภทบุคคล และ 1 เหรียญทองแดง จากการขี่ม้า Eventing ประเภททีม ตลอดจนได้รับความไว้วางใจจากสหพันธ์กีฬาขี่ม้านานาชาติ มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในการจัดแข่งขันรายการ “FEI SEA Youth Cup 2023” ซึ่งเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องของการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับเยาวชน ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อธุรกิจ
  • เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัทฯ ในการเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมกีฬาขี่ม้าและกีฬาขี่ม้าโปโลในประเทศไทย และพัฒนาให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น โดยจัดการแข่งขันเพื่อการกุศล เพื่อมูลนิธิต่างๆ อยู่สม่ำเสมอตลอดมา
  • สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพด้านการกีฬา สุขภาพ และศิลปะของไทยไปสู่ระดับโลก
ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • สร้างอาชีพให้กับนักกีฬาขี่ม้า และอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โค้ช ช่างทำเกือกม้า คนเลี้ยงม้า ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
  • ส่งเสริมภาพลักษณ์และทำให้กีฬาขี่ม้าและกีฬาขี่ม้าโปโลเป็นที่รู้จักมากขึ้น
  • สนับสนุนและสอดคล้องไปกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ในเป้าหมายย่อยที่ 4.b 8.6 และ 8.9

โครงการสนับสนุนวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ (RBSO) กรุงเทพ

เราเชื่อว่าดนตรีคลาสสิกเป็นการส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เสริมสร้างความเจริญทางจิตใจให้กับคนทั้งประเทศ และยังเป็นการแสดงภาพลักษณ์ที่ทำให้ต่างชาติได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้นจากการที่ บี.กริม เพาเวอร์ สนับสนุนนักดนตรีคลาสสิกไทยให้มีโอกาสแสดงความสามารถ

เป็นเวลานานกว่า 18 ปี ที่ บี.กริม เพาเวอร์ สนับสนุนในมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Royal Bangkok Symphony Orchestra Foundation under The Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya หรือ RBSO) ภายใต้พระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีจุดประสงค์ที่จะพัฒนานักดนตรีชาวไทยให้มีฝีมือทัดเทียมกับนักดนตรีระดับโลก สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยความมั่นคงอย่างเป็นมืออาชีพและดูแลครอบครัวได้ และยกระดับวงออร์เคสตร้าให้ทัดเทียมกับวงชั้นนำในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก

นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมและสนับสนุน รอยัลแบงค์คอกซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (RBSO) ให้เป็นวงออร์เคสตร้าของประเทศไทยที่ได้รับโอกาสออกแสดงทัวร์คอนเสิร์ตในฐานะทูตวัฒนธรรมในต่างประเทศมากที่สุด เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และได้มีโอกาสไปแสดงในประเทศญี่ปุ่นในหลายโอกาสซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดี เรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมกับชุมชน จึงส่งเสริมการเรียนรู้และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงดนตรีคลาสสิก ด้วยการจัดดนตรีในสวนที่เปิดให้ผู้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นำเสนอบทเพลงที่ได้รับความนิยมทั้งเพลงไทย เพลงสากล เพลงประกอบภาพยนตร์ และบทเพลงคลาสสิก อีกด้วย

โดยในปี 2566 เราได้สนับสนุนการแสดงคอนเสิร์ต “RBSO European Tour 2023” ณ Musikverein กรุงเวียนนา Herkulessaal นครมิวนิค และ La Seine Musicale กรุงปารีส นอกจากนี้มูลนิธิฯ ได้ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีบางกอกซิมโฟนี (Bangkok Symphony Music School หรือ BSS) เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการศึกษาดนตรีสากลคลาสสิกให้เป็นที่แพร่หลาย โดยมีผู้เข้าเรียนนับแต่เริ่มก่อตั้งรวมกว่า 1,510 คน และมีเยาวชนหลายรายได้รับความสำเร็จศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนก้าวมาเป็นนักดนตรีอาชีพ

ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อธุรกิจ
  • เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัทฯ ในการเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมวงออร์เคสตราของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้ได้รับโอกาสออกแสดงทัวร์คอนเสิร์ตในต่างประเทศ
  • สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพด้านการกีฬา สุขภาพ และศิลปะของไทยไปสู่ระดับโลก
ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • สร้างอาชีพให้กับนักดนตรี 85 คน และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • สร้างโอกาสการเรียนรู้ด้านดนตรีคลาสสิก (ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า) โดยปัจจุบันมีผู้เข้าเรียนนับแต่เริ่มก่อตั้งรวมกว่า 1,510 คน
  • ในปี 2566 มีคอนเสิร์ตที่ไปจัดแสดงต่างประเทศ 1 รายการ คือ RBSO European Tour 2023 ใน 3 เมือง ได้แก่ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย, นครมิวนิก ประเทศเยอรมัน, และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และคอนเสิร์ตในประเทศรวม 15 รายการ ณ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมใหญ่
  • สนับสนุนและสอดคล้องไปกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ในเป้าหมายย่อยที่ 4.3 4.4 และ 8.6

โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาสมเด็จย่า 90

มูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระราชูปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2523 ได้จัดให้มีการมอบทุนการศึกษา “ทุนการศึกษาสมเด็จย่า 90” แก่นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ของสถาบันพระบรมราชชนก ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โดยมุ่งหวังให้นักศึกษาพยาบาลสานต่อปณิธานด้านอาชีพการพยาบาล มีความรักศักดิ์ศรีในอาชีพตลอดจนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ

บี.กริม เพาเวอร์ สนับสนุน “ทุนการศึกษาสมเด็จย่า 90” ผ่านมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระราชูปถัมภ์ ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สถาบันพระบรมราชชนก สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวม 30 แห่งทั่วประเทศ และวิทยาลัยพยาบาลของ 3 เหล่าทัพ ประกอบด้วย วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ และวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารอากาศ ซึ่ง “ทุนการศึกษาสมเด็จย่า 90” เป็นทุนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทุนละ 10,000 บาท ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนจบหลักสูตร 4 ปี โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ หวังที่จะเห็นนักศึกษาที่ได้รับทุนนี้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สืบทอดตามแนวพระปณิธานของพระองค์ เพื่อประพฤติปฏิบัติเป็นพยาบาลที่ดี สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปี 2566 นับเป็นเวลากว่า 33 ปี มีการมอบทุนรวม 8,994 ทุน และมีผู้สำเร็จการศึกษารวม 2,914 คน นอกจากนี้ เรายังตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการศึกษาของมนุษย์ จึงมอบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา และหุ่นยนต์เสมือนคน เช่น หุ่นจำลองฝึกการคลอด หุ่นทารกฝึกช่วยชีวิต หุ่นแขนฝึกการเย็บแผลเพื่อให้นักศึกษาพยาบาลได้ฝึกปฏิบัติจริง พร้อมกันนี้มูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับบี.กริม ได้จัดทำโครงการ “ค่ายตามรอยสมเด็จย่า” ให้กับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีที่ได้รับทุนก่อนจบการศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้พระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเกี่ยวกับการดำเนินโครงการตามพระราชดำริด้านการพยาบาลในประเทศไทย รวมถึงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการปลูกฝัง และสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของอาชีพพยาบาล การสร้างแรงบันดาลใจ และการสร้างกระบวนการในการเรียนรู้และตัดสินใจ เพื่อมุ่งหวังให้นักศึกษาพยาบาลสานต่อพระปณิธานด้านอาชีพพยาบาลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีความรักในศักดิ์ศรีของอาชีพตลอดจนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะของนักเรียนพยาบาลวิทยาลัยบรมราชชนนี สถาบันพระบรมราชชนก โดยมีการจัดโครงการ “ค่ายตามรอยสมเด็จย่า” ไปจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง มีนักศึกษาพยาบาลเข้าร่วมโครงการ ครั้งละประมาณ 120 คน

ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อธุรกิจ
  • แสดงจุดยืนในการขับเคลื่อนสังคมตามหลักปรัชญาใน “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี”
  • สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพด้านการกีฬา สุขภาพ และศิลปะของไทยไปสู่ระดับโลก
ตัวชี้วัดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาผ่านการมอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ
    (มอบทุนการศึกษามากกว่า 8,994 ทุน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 75 ล้านบาท และมีผู้สำเร็จการศึกษารวม 2,914 คน ตลอดระยะเวลาโครงการ)
  • เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้กับสังคมในวงกว้าง
    (บ่มเพาะพยาบาลที่ทรงคุณค่ามาก ที่สำเร็จการศึกษาจากการมอบทุนรวม 2,914 คน ตลอดระยะเวลาโครงการ)
  • สนับสนุนและสอดคล้องไปกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
    (Sustainable Development Goals –SDGs) ในเป้าหมายย่อยที่ 4.3 4.4 และ 8.6