BGRIM ปี 64 กำไร 2,276 ลบ. ปันผล 0.27 บาท ลุยซื้อกิจการเป้ากำลังผลิต 1,000 MW

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2564 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ เติบโต 5.8% เป็น 46,628 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,275.70 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.72 บาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,174.76 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.68 บาท

มติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ได้อนุมัติกรอบการออกหุ้นกู้เพิ่มสู่ระดับ 100,000 ล้านบาท ในระหว่างปี 2565-2569 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างการเงินที่แข็งแรง รองรับการเติบโตมุ่งสู่เป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ (MW) และประกาศจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลังในอัตราหุ้นละ 0.27 บาท คงอัตราการจ่ายปันผลที่ 45% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 11 มีนาคม 2565 และวันที่จ่ายปันผล คือ 12 พฤษภาคม 2565 โดยจะนำเสนอขออนุมัติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ต่อไป

ในปี 2564 บริษัทมีปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายเพิ่มขึ้น 2.4% อยู่ที่ 14,794 กิกะวัตต์/ชั่วโมง จากการขยายธุรกิจต่อเนื่องทั้งด้านฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีลูกค้าใหม่ 43.1 เมกะวัตต์ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 16 เมกะวัตต์ในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ดี ด้วยราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักปรับตัวสูงขึ้น 8.8% เป็น 266 บาทต่อล้าน BTU ในปี 2564 และอยู่ที่ 335 บาทต่อล้าน BTU ในไตรมาส 4/2564 กำไรสุทธิจากการดำเนินงานจึง ลดลง 6.8% เป็น 2,440 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามถึงแม้ในปี 2565 ถือเป็นปีที่แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น แต่ BGRIM ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยเร่งลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายซึ่งคาดว่าจะประหยัดได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้ เดินหน้านำเข้าก๊าซ LNG ในต้นปีหน้าซึ่งคาดว่าจะประหยัดต้นทุนส่วนนี้ได้ราว 7-10% ควบคู่ไปกับแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2565 จะปรับปรุงโครงการ BPWHA และ ABP4 คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติลง 20-25 ล้านบาทต่อปี ในส่วนของการขยายธุรกิจตั้งเป้าเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้และจะ COD โรงไฟฟ้า SPP 5 โครงการทดแทน รวม 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลดอัตราการใช้ก๊าซลงราว 15% อีกด้วย

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อการวางรากฐานสำหรับความพร้อมในอนาคต ประกอบด้วย

  1. มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายในปี 2593 บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเพื่อลดอัตราการใช้ก๊าซ ขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการศึกษากระบวนการดักจับคาร์บอน และการลงทุนในเชื้อเพลิงทางเลือก
  2. ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น การนำดิจิทัล ทวิน มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและลดการหยุดซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงนำมาใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงปริมาณและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด
  3. การปรับปรุงกระบวนการทำงานและแผนการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งเริ่มจาก 4 กระบวนการหลักของธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดกระบวนการที่ไม่เกิดมูลค่า ขณะที่แผนการควบคุมค่าใช้จ่ายสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ได้ 19.4% หรือ 368 ล้านบาท ในปี 2564
  4. เดินหน้าเตรียมนำเข้า LNG เพื่อช่วยในการบริหารต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ และถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาด
  5. โครงการนำร่อง Energy Trading ที่อาคารสำนักงานของ บี.กริม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าและเสริมบริการโซลูชั่นแก่ลูกค้า ในอนาคต
  6. จับมือพันธมิตรชั้นนำเพิ่มความแข็งแกร่งในการขยายธุรกิจ อันเป็นกลยุทธ์หลักของ บี.กริม ที่ยึดถือต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งกับ AMATA, SCG, PTT Global LNG, UV, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, ReNIKOLA, Truong Thanh Energy, Renewable Energy Korea และ VisaVento 

ในปีนี้ บี.กริม ได้ดำเนิน “โครงการนวัตกรรม” โดยร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ Global Innovation Catalyst (ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่มีเครือข่ายทั่วโลก มีประสบการณ์การทำงานกว่าทศวรรษใน Silicon Valley) เพื่อสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมและความพร้อมสำหรับ บี.กริม ในอนาคต และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกับพันธมิตรทางธุรกิจ หลายแห่ง เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศไทย

ที่มา: moneyandbanking