BGRIM ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้า ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย พร้อมวางระบบ Smart Grid

บี.กริม เพาเวอร์ เซ็น MOU นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย พัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ-พลังงานทดแทน ลุยพัฒนาระบบ "สมาร์ทกริด" ในนิคมอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.64 ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU กับนายชาลี โสภณพนิช กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือ นิคมอุตสาหกรรมเอเชียในครั้งนี้

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือเพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นด้วยก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาเทคโนโลยีระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Smart Grid ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านไฟฟ้าของบริษัทฯ

โดยความร่วมมือดังกล่าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่ต้องการมุ่งขยายธุรกิจระบบการส่งและระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาค บริษัทมีการสร้างและควบคุมระบบการส่งและระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 9 แห่งทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้พัฒนาการซื้อขายในระบบ Energy Trading ขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าโดยตรง ไม่ผ่านระบบของการไฟฟ้า อาศัยโครงข่ายอัจฉริยะที่พัฒนาโดย บี.กริม เพาเวอร์ รวมทั้งได้นำร่องทดสอบระบบ Trading ระหว่างอาคารต่างๆ ในเครือ บี.กริม และในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการศึกษานำร่องพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี กับสวนอุตสาหกรรมบางกะดี เป็นการเชื่อมโยงกำลังผลิตไฟฟ้าหลายรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งโซลาร์ลอยน้ำ โซลาร์รูฟท็อป ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV สถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Charging Station และระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System: ESS พร้อมพัฒนาระบบต่างๆ ให้ทันสมัย เพื่อรองรับต่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนใช้เทคโนโลยี 5G จะทยอยดำเนินการเป็นระยะ

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 50 โครงการ และตั้งเป้ากำลังการผลิตเติบโตจาก 3,058 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 63 เป็นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 7,200 เมกะวัตต์ในปี 68 และมุ่งสู่ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 73 โดยมีเป้าหมายรายได้ต่อปีกว่า 100,000 ล้านบาท.

ที่มา thairath